1800 MHz ขายออก “กสทช.” ทบทวนจัดสรรคลื่น 900

โล่งอกไปอีกเปลาะหนึ่ง แม้ “ทรู” จะประกาศชัดว่า ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นใหม่ในรอบนี้ แต่ “เอไอเอส-ดีแทค” ก็ยื่นคำขอประมูล 1800 MHz ไม่พร้อมใจกัน “เท” เหมือนครั้งก่อน

ส่วนคลื่น 900 MHz ราคาเริ่มต้น 35,988 ล้านบาท ที่ไม่มีผู้ใดเข้าประมูลเลยนั้น “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากการประมูลวันที่ 19 ส.ค.จบแล้ว จะเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาว่า จะทบทวนหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น900 MHz รวมถึงดำเนินการอย่างไรกับคลื่น 1800 MHz ในส่วนที่ยังจัดสรรไม่หมด เนื่องจากมีผู้ประมูลแค่ 2 ราย ซึ่งแต่ละรายประมูลได้สูงสุดไม่เกิน4 ไลเซนส์ จากที่นำออกประมูลทั้งหมด9 ไลเซนส์ ดังนั้นต้องมีคลื่นเหลือแน่นอน

ทบทวนจัดสรร 900 MHz

“คลื่น 900 MHz ดีแทคแจ้งว่า ยังสนใจ แต่เงื่อนไขเวลานี้มีความเสี่ยงสูง จากความไม่แน่นอนในการลงทุนติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวนกับคลื่นส่วนที่ได้จัดสรรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย สำหรับรถไฟความเร็วสูง ถ้ามีการเปลี่ยนเงื่อนไขให้แต่ละโอเปอเรเตอร์ลงทุนติดตั้งระบบป้องกันเอง และเป็นคลื่นที่ไม่เกี่ยวกับเส้นทางรถไฟแล้วก็สนใจจะประสงค์จะใช้งานคลื่นย่านนี้ ส่วนเอไอเอสก็อยากได้คลื่นส่วนนี้เพิ่ม แต่ติดปัญหาเรื่องระบบป้องกันเช่นกัน”

ดังนั้น จะมีการเสนอให้ กสทช.พิจารณาว่า จะจัดสรรคลื่น 900 MHz อย่างไร เพราะถือเป็นคลื่นย่านเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ก่อนนี้ที่จัดสรรให้การรถไฟฯ เพราะเป็นการนำไปใช้งานเพื่อสาธารณะ

ชงสิทธิ์เยียวยาดีแทค

ส่วนกรณีว่า “ดีแทค” จะได้สิทธิ์ใช้งานคลื่นต่อหลังสิ้นสุดสัมปทาน 15 ก.ย. 2561 ตามประกาศมาตรการเยียวยาผู้บริโภคหรือไม่นั้น เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า ในส่วนคลื่น 1800 MHz ได้สิทธิ์อยู่แล้ว แต่คลื่น 900 MHz เมื่อไม่ได้ยื่นเข้าประมูลจึงไม่ได้สิทธิ์ แต่สามารถขอให้บอร์ดทบทวนมติได้ โดยในวันที่ 15 ส.ค.นี้ จะมีการประชุม กสทช.วาระพิเศษ เพื่อพิจารณาคุณสมบัติ ก่อนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าประมูลในวันเดียวกัน

ลุ้นเงินเข้ารัฐกี่ไลเซนส์

จากนี้ก็ต้องลุ้นว่า 19 ส.ค. 2561 วันเคาะราคาประมูลจะขายออกกี่ใบอนุญาต แต่อย่างน้อยก็หาเงินเข้ารัฐได้แน่ ๆ 12,486 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาเริ่มต้นของ 1 ไลเซนส์ (5 MHz) เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 25 ล้านบาท แบ่งชำระเงิน 3 งวด งวดแรก จ่าย 50% ก่อนรับใบอนุญาต งวดที่ 2 อีก 25% เมื่อครบ 2 ปี และอีก 25% เมื่อครบ 3 ปี

ปัจจุบัน “เอไอเอส-ทรู” มีคลื่นจากการประมูล 40 MHz เท่ากัน แยกเป็น ย่าน 2100 MHz จำนวน 15 MHz สิทธิ์ใช้งานถึง ธ.ค. 2570 คลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz สิทธิ์ถึง ก.ย. 2576 คลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz สิทธิ์ใช้งาน มิ.ย. 2574 แต่ทั้งคู่มีสัญญาพันธมิตรกับรัฐวิสาหกิจ โดย “เอไอเอส” จะมีสิทธิ์ได้ใช้คลื่น 2100 MHz ของทีโอทีอีก 15 MHz ส่วน “ทรู” มีสิทธิ์ใช้คลื่น 850 MHz ของแคท อีก 15 MHz

ส่วน “ดีแทค” มีแค่คลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz สิทธิ์ใช้งานถึง ธ.ค. 2570 กับคลื่น 2300 MHz ที่ได้สิทธิ์เป็นพันธมิตรร่วมกับทีโอทีอีก 60 MHz ที่เหลือเป็นคลื่นที่จะสิ้นสุดสัมปทาน

15 ก.ย. 2561

ดีแทคย้ำ 900 MHz เสี่ยงสูง

“ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงได้เข้าประมูลเฉพาะ 1800 MHz โดยมีแผนจะนำมาใช้ให้บริการย่าน 2G เพื่อรองรับลูกค้าที่ยังมีอยู่จำนวนมาก และนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 4G รองรับการใช้งานโมบายดาต้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

ส่วนคลื่นย่าน 900 MHz ยังกังวลถึงความเสี่ยงทั้งในการแก้ปัญหาคลื่นรบกวนกันกับระบบอาณัติสัญญาณขนส่งทางราง ทั้ง กสทช.ยังขอสงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนบล็อกคลื่นความถี่ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องรับผิดชอบการป้องกันคลื่นรบกวนเพิ่มด้วย

ด้าน “วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz เพื่อนำไปใช้เสริมศักยภาพ 4G จากความต้องการใช้งานของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

ทำไม 900 MHz ถูกเมิน

กสทช. “ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กล่าวว่า สาเหตุที่คลื่น 900 MHz ถูกเมิน ทั้งที่เป็นลอตสุดท้าย เพราะราคาประมูล สูงกว่าราคาประเมินคลื่นความถี่ขั้นสูงถึงเกือบ 3 เท่า เป็นราคาที่ทำลายสถิติโลก ขณะที่คลื่น 1800 MHz ยังใกล้เคียงกับราคาประเมินคลื่นความถี่ขั้นสูง และต่ำกว่าราคาประมูลในหลายประเทศ

“ราคาที่สูงเป็นสถิติโลก บวกกับเงื่อนไขที่เป็นภาระ แม้ กสทช.จะดึงดูดด้วยการลดราคา 2,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ อีกทั้งเหลือแค่ 5 MHz ในขณะที่คู่แข่งมีรายละ 10 MHz จึงเสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่เริ่มนับหนึ่ง”

900 MHz กับรถไฟ=ตกยุค

แม้ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟที่ใช้คลื่นในย่าน 900 MHz เป็นไปตามมาตรฐาน GSM-R ของยุโรป แต่เป็นมาตรฐานที่กำลังตกยุค เนื่องจากเป็นเทคโนโลยียุค 2G ซึ่งอุตสาหกรรมจะผลิตอุปกรณ์รองรับไม่เกินปี 2573 และยิ่งใกล้ปีดังกล่าวอุปกรณ์ก็จะยิ่งหายากและมีราคาสูง ในยุโรปจึงได้พัฒนามาตรฐานใหม่ FRMCS และมีแผนจะทยอยย้ายออกจาก GSM-R ตั้งแต่ปี 2565 โดยระบบใหม่จะรองรับต่อไปอีกอย่างต่ำ 20 ปี โดยคาดว่าสวิตเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์จะปิดระบบ GSM-R หลังปี 2565

ทั้งนี้เป็นไปได้สูงว่าระบบใหม่จะเชื่อมต่อแบบ IP-based และใช้คลื่นย่านอื่น เนื่องจาก 900 MHz มีจำกัดมาก แม้แต่ในจีนก็พัฒนาระบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี LTE บนคลื่นย่าน 450 MHz

“ที่ผ่านมา กสทช.ตัดสินใจตามคำขอของกระทรวงคมนาคม และอยู่บนพื้นฐานว่ารถไฟความเร็วสูงต้องใช้คลื่น 900 MHz เท่านั้น แต่จากข้อมูลปัจจุบัน เรามีทางเลือกมากกว่า 1 ทาง การจัดสรรคลื่น 900 MHz ที่ขาดแคลนเพื่อเทคโนโลยีที่กำลังจะตกยุค อาจต้องหาทางออกโดยเร็ว ไม่เช่นนั้น จะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเปลี่ยนจากเทคโนโลยีที่จะตกยุค ทั้งที่เพิ่งลงทุนไปได้ไม่นาน”