ส่องห้องประมูลคลื่นหมื่นล้าน “กสทช.” เข้มซีเคียวริตี้ห้าม“โดรน-อุปกรณ์สื่อสาร”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัด Press Tour โชว์ความพร้อมในการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันประมูลจริงจะคุมเข้มระบบรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ กสทช. โดยเฉพาะโซนห้องประมูล เนื่องจากเป็นช่วง “ไซเรนพีเรียด” ป้องกันการฮั้วประมูล โดยห้ามผู้เข้าประมูลทั้ง 2 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และ 2. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) สื่อสารระหว่างกันรวมถึงโลกภายนอกจนกว่าการประมูลจะสิ้นสุด

โดยการประมูลจะเริ่มเปิดให้ผู้เข้าประมูลลงทะเบียนตั้งแต่ 8.00 – 8.50 น. ห้ามไม่ให้ผู้แทนของแต่ละบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลได้ทั้งหมด 10 คน พกอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด พื้นที่ กสทช. ทั้งหมดจะมีกล้องวงจรปิด และเป็นเขตปลอด “โดรน” โดยจะมีเครื่องตรวจจับการบินของอากาศยานไร้คนขับ ขณะที่ในห้องประมูลกระจกทั้งหมดจะถูกติดฟิล์มดำ และแม้จะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างครบครัน แต่จะไม่มีวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งไว้ให้ก็ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนอื่นนอกจากเข้าระบบการประมูล  หากมีปัญหาขัดข้องใดๆ เกิดขึ้น จะต้องออกมาแจ้งกับพนักงานประจำห้องประมูลที่เฝ้าอยู่หน้าประมูลเท่านั้น

ขณะที่ในห้องประมูลจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกโดยแยกโซนพักผ่อนที่มีอาหารว่างที่พร้อมรับประทานได้ทันที กับการเสิร์ฟอาหารว่าง รวมถึงอาหารมื้อกลางวันและเย็นให้ ถ้าการประมูลยืดเยื้อ  กับมีโซนห้องประมูล ซึ่งมีห้องน้ำในตัว

“การประมูลไม่น่ายืดเยื้อมากเพราะมีผู้เข้าประมูลแค่ 2 ราย เราเตรียมห้องประมูลไว้ 3 ห้องเผื่อสำรองหากอุปกรณ์ขัดข้อง ซึ่ง กสทช. ก็ยังหวังว่าจะมีการแข่งราคากันอยู่พอสมควร เพราะแต่ละรายเข้าประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต จากที่ กสทช. นำออกประมูลทั้งหมด 9 ใบอนุญาต  ซึ่งหาก 2 ค่ายเลือกประมูลบล็อกคลื่นเดียวกันก็ต้องมีการเคาะราคาแข่งกัน”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ระบุว่า ตามกฎการประมูลที่ออกแบบไว้ หลังจากเปิดประมูลในเวลา 10.00 น. แล้วการประมูลจะจบได้เร็วที่สุดอย่างน้อยต้องมีการเปิดเสนอราคา 4 รอบ ซึ่งแต่ละรอบจะใช้เวลา 20 นาที แต่กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทั้ง DTN และ AWN เลือกประมูลบล็อกคลื่นไม่ซ้ำกันเลย  โดยราคาจบการประมูลคลื่นจะอยู่ที่ 12,511 ล้านบาทต่อไลเซนส์ หรือเพิ่มขึ้น 25 ล้านบาท ( 1 เคาะ)

โดยรอบแรกจะเป็นการเคาะรับราคาเริ่มต้นประมูล 12,486 ล้านบาทต่อไลเซนส์ ซึ่งถ้า DTN และ AWN เลือกบล็อกคลื่นไม่ตรงกันก็จะได้สิทธิ์เป็น “ผู้ชนะการประมูลชั่วคราว” ดังนั้นในการประมูลรอบที่ 2 จึงมีสิทธิ์ไม่ต้องเสนอราคาเพิ่มได้ โดยไม่ถูกตัดสิทธิ์ออกจากการประมูล ซึ่งหากไม่มีคู่แข่งมาเคาะราคาในบล็อกเดียวกัน ในรอบที่ 2 ก็จะยืนราคาประมูลไว้ที่ 12,486 ล้านบาท  และทำให้การประมูลรอบที่ 3 เข้าสู่การประมูลรอบ Final  ซึ่งทั้ง DTN และ AWN ต้องเคาะราคาเพิ่มในบล็อกคลื่นที่เสนอราคาไว้ก่อนนี้ตามเงื่อนไขประมูลที่ต้องยืนราคาเพิ่มอย่างน้อย 1 ครั้ง  ซึ่งหากเปิดประมูลในรอบที่ 4 แล้วไม่มีผู้ใดเสนอราคาเพิ่มอีกก็จะสิ้นสุดการประมูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กสทช. เปิดสาธิตประมูลคลื่น 1800 MHz “DTN-AWN” ร่วมซ้อมเคาะราคา