โจทย์หิน “แคท” ต้องแก้ กลับลำ “ควบรวม” ดิ้นหาทางรอด

อยู่ในจังหวะมีแต่เรื่องร้อน ทั้งสัมปทานกับดีแทคจะสิ้นสุด 15 ก.ย.นี้ การผลักดันของบอร์ดและพนักงานเพื่อ “ควบรวม” กับ บมจ.ทีโอที ให้เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เปิดทางใหม่พลิกฟื้นองค์กร “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท)

Q : เตรียมรับสัมปทานดีแทคหมด

เตรียมไว้ 2 ทางเลือก คือ 1.ถ้าได้สิทธิ์เยียวยา ก็เอาอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้งานได้ แล้วมีออปชั่นให้ดีแทคซื้ออุปกรณ์ 4G บน 1800 MHz คืนได้ กับ 2.ไม่ได้สิทธิ์เยียวยา ก็ทำสัญญาโรมมิ่งกับโครงข่าย 3G 850 MHz ของแคทแล้ว

Q : ปี”68 สิทธิ์ในคลื่นหมดจะยังไงต่อ

ก็หวังว่าบรอดแบนด์กับ IOT(อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) รวมถึงดิจิทัลโซลูชั่นอื่น ๆ จะเข้ามาทดแทนได้ ถึงต้องรีบปรับองค์กรทั้งหมดให้เร็วที่สุด

Q : ควบรวมกับทีโอทีช่วยให้รอด

ฝ่ายจัดการทั้งทีโอที-แคทคุยกันว่า สิ่งที่เหมาะสมคือมีรัฐวิสาหกิจเดียว จึงมอง NT แต่วิธีควบรวมยังต่างกันที่กังวลคือข้อพิพาทระหว่างกัน ถ้ารวมแล้วข้อพิพาทจะหายไป แต่ยังมีบุคคลอื่นเกี่ยวข้อง สิทธิหน้าที่ยังติดตามอยู่ไหม มีข้อดีข้อเสียอย่างไร 2. คลื่นของแคทกับทีโอที ถ้ารวมแล้วยังอยู่ไหม

Q : เป็นครั้งแรกที่พนักงานเสนอเอง

คนทั้ง 2 องค์กรเริ่มเห็นว่า ถ้าอยู่แบบนี้ มันมีเหวอยู่ข้างหน้าในปี 2568 ที่คลื่นจะหมดไป ถ้ายังไม่เตรียมตัวทำอะไรเลย ณ วันนั้นจะทำอย่างไร และเมื่อเหลือแค่ NT ก็มีเหตุผลในการพูดคุยกับภาครัฐ กับ กสทช.ว่า อย่างน้อยควรมีหนึ่งโอเปอเรเตอร์ที่เป็นภาครัฐ จะขอสิทธิ์อะไรก็ มีความเป็นไปได้กว่าเดิม

Q : รัฐวิสาหกิจไม่จำเป็นแล้ว

ยังมีความจำเป็น แต่อาจจะน้อยกว่าเมื่อก่อน เพราะเป็นนโยบายรัฐที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการสื่อสารได้ทั้งหมด แม้จะมีโครงการเน็ตประชารัฐก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นแค่ไวร์เลสบรอดแคสต์แค่จุดเดียว ยังมีความต้องการฟิกซ์บรอดแบนด์และบริการอื่น ๆ อีก ซึ่งเอกชนยังไม่ได้มองพื้นที่เหล่านั้น เพราะไม่ได้มีศักยภาพสร้างรายได้ รัฐวิสาหกิจจึงเข้าไปเติมเต็มได้ เป็นเครื่องมือซัพพอร์ตนโยบายรัฐ

Q : ครั้งนี้ควบรวมได้แน่

ก็มีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น แต่ก็ต้องมองภาพใหญ่ประโยชน์ของภาครัฐ ว่าการเป็นหน่วยงานเดียว หรือ 2 หน่วยงานดีกว่ากัน ส่วนที่กังวลว่าจะยิ่งฉุดกันลงเหว ก็จะอยู่ที่ internal operations

Q : ระเบียบฉุดแข่งขัน-ไม่ได้แก้

ใช่ ก็ยังอยู่ แต่ถ้าจุดยืนคือเป็นอินฟราสตรักเจอร์ก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขัน ส่วนที่ต้องแข่งขันก็ใช้การจับมือกับพาร์ตเนอร์ หรือ spinoff ออกไป หน้าที่ดูแลโครงข่ายเน็ตประชารัฐ เคเบิลใต้น้ำ แม้แต่บิ๊กดาต้าภาครัฐ ก็ควรจะเป็นรัฐวิสาหกิจดูแล แต่อื่น ๆ อย่างคลาวด์เซอร์วิสบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ ที่ไม่เกี่ยวกับดาต้าภาครัฐก็ควรหาพาร์ตเนอร์

Q : รวมกันมี พนง.ตั้ง 2.5 หมื่น

อย่างไรก็ต้อง lean ออก แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยพนักงานแคทกับทีโอที อยู่ที่50 ปีกว่า ๆ เพราะฉะนั้น อีก 3-4 ปีก็หายไป 30-40% เองอยู่แล้ว แต่ธุรกิจใหม่ก็ต้องการคนรุ่นใหม่ know-how ใหม่ ๆ ฉะนั้นต้องมีบางส่วนที่ spin ออกไป ดึงคนรุ่นใหม่เป็นการแข่งขันเสรีไปเลย

Q : ระหว่างนี้จะทำอย่างไร

แคทก็ต้องมุ่งไปที่ดิจิทัลโซลูชั่นให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น IOT LoRa network ที่ครอบคลุมจะทั่วประเทศแล้ว โซลูชั่นต่าง ๆ เริ่มเข้ามาใช้งานเน็ตเวิร์กแล้ว และบิ๊กดาต้า เริ่มทำ sandbox ซึ่งมีหลายกระทรวงสนใจทดลองเข้ามาใช้งาน

Q : IOT ทุกค่ายใหญ่ก็ทำหมด

ต้องมีมุมมองของดาต้าภาครัฐ ในต่างประเทศจะมีหน่วยงานที่ทำอนาไลติกส์ข้อมูลภาครัฐ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้เอกชน เพราะเป็นข้อมูลเชิงลึก มีที่จำเป็นต้องถูกคุ้มครองตามกฎหมาย จึงควรมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาวิเคราะห์ในส่วนนี้ แล้วค่อยนำไปให้เอกชนใช้

Q : ปี”60 ขาดทุนถึง 5 พันล้าน

หลัก ๆ มาจากปัญหาเก่า อาทิ ภาษีสรรพสามิตที่ศาลสั่งจ่ายกว่า 2 พันล้านบาท ปีนี้ไม่น่าจะมีอีก ดังนั้นถึงสิ้นปีจะยังขาดทุน แต่หลักร้อยล้านบาทและได้เจรจาระงับข้อพิพาทกับดีแทคเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างร่างสัญญาให้อัยการตรวจสอบ ถ้าจบก็จะมีรายได้เพิ่มอีก 3 พันล้านบาท จากการให้เช่าเสาและอุปกรณ์ ผลประกอบการน่าจะเป็นบวกได้แต่โอเปอเรชั่นของตัวเองต้องเร่งทำ คือ ธุรกิจที่มีรายได้ลดลงอย่างดาต้าคอม และ IDD ที่เป็นอยู่คือ ตกในอัตราที่เร็วกว่าตลาดคาดการณ์ก็ต้องชะลอให้ได้ ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ขึ้นเท่าค่าเฉลี่ยตลาด อย่างบรอดแบนด์ ตลาดรวมโตถึง 25% แต่แคทโตแค่ 2%

Q : ทางแก้ต้องโฟกัสกลุ่ม

เป้าหมายให้ชัด ไม่เน้นทำตลาดแมส อย่างบรอดแบนด์ ซึ่งลงทุนเยอะแต่ก็ขาดทุนเยอะ ต้องหาพาร์ตเนอร์มาช่วยในส่วนของลาสต์ไมล์ เพื่อให้บริการได้คล่องตัวกว่า แล้วแคทก็ไปโฟกัสที่ธุรกิจโมบาย “my” คือต้องรู้ข้อจำกัดตัวเอง เพราะคนที่จะไปเซอร์วิสลูกค้าก็มีน้อย ถ้าทำได้ไม่ดีก็จะฉุดภาพลักษณ์บริการอื่นไปด้วย

Q : ต้องจัดโครงสร้างคนใหม่

ต้องจัด เพราะคนแคทที่มีศักยภาพในดิจิทัลโซลูชั่น อย่าง IOT บิ๊กดาต้าก็มีน้อยมาก เมื่อเทียบว่านี่คือธุรกิจที่จะเป็นอนาคตของแคท ซึ่งเป็นอีกอุปสรรคในการก้าวไปสู่ new S-curve ที่ทำได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่ดีมานด์ในตลาดมีเยอะมาก ที่เป็น new S-curve อาจจะต้องขอเปิดรับคนใหม่ ก็ต้องคุยกับบอร์ด กับ สคร. เพราะถูกบีบเรื่องการลดค่าใช้จ่ายอยู่ตลอด และถ้ามีคนพร้อมก็จะแยกเป็นบริษัทลูก ให้แคทถือหุ้นน้อยกว่า 25% จะได้ไม่ต้องเข้าข่ายเป็นรัฐวิสาหกิจ