ชงบอร์ดดีอีดึงคลื่น 900 คืน ลุยประมูลรอบใหม่ก.พ.62

กสทช.ลุยจัดประมูลคลื่นอีกรอบ ก.พ. 62 เร่งชงบอร์ดดีอีเคาะดึงคลื่น 900 MHz คืนจาก ร.ฟ.ท. หวังได้เงินเข้ารัฐอีก 8 หมื่นล้านบาท ปักธงรับ 5G ปีཻ ฟาก “โนเกีย” ชี้คลื่น 700 MHz เหมาะใช้ 5G ในไทย ติงรีบจัดสรรความถี่เฉพาะขนส่งระบบรางให้ชัดเจน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอแนวทางประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ที่เหลือจากการประมูลเมื่อ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้บอร์ดพิจารณาก่อนเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ โดยคาดว่าการประมูลครั้งใหม่จะเกิดเร็วสุดคือ ก.พ. 2562

ส่วนการจูงใจให้เอกชน คือขยายงวดชำระเงินเพิ่มจากเดิม 2 เท่า อาทิ ย่าน 900 MHz เดิมแบ่งจ่าย 4 ปีก็จะขยายเป็น 8-10 ปี รวมถึงใช้เงินจากกองทุน USO ของ กสทช. ติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวนแทนที่เอกชนต้องลงทุนเอง ทั้งยังเตรียมทำบทวิเคราะห์ทบทวนการจัดสรรคลื่น 900 MHz ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาอีกครั้ง เพราะหากนำ 900 MHz กลับมารวมประมูลเป็น 10 MHz ได้ มูลค่าจะอยู่ราว 80,000 ล้านบาท

“รัฐบาลผลักดันให้เกิด 5G ในปี 2563 การจัดสรรคลื่นให้เพียงพอเป็นเรื่องสำคัญ มิฉะนั้นจะทำให้ประเทศเสียโอกาสทางเศรษฐกิจกว่าแสนล้านบาท”

ด้านนายเซบาสเตียน โลฮองผู้อำนวยการประจำประเทศไทย โนเกีย เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการ 5G จะทำให้ตลาดโทรคมนาคมเติบโตกว่า 3 เท่า ทั้งยังเปิดตลาดไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ อย่างโรงงาน, สมาร์ทซิตี้, ธุรกิจโลจิสติกส์ และสุขภาพ ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่าง machine to machine ด้วยเทคโนโลยี IOT ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งในประเทศไทยบรรดาโอเปอเรเตอร์มีความพร้อมมาก จึงอยู่ที่การจัดสรรคลื่นของ กสทช.

“คลื่นที่เหมาะกับ 5G สำหรับอาเซียนและไทย คือย่าน 700 MHz และ 3.5-3.6 GHz รวมถึง 26-28 GHz โดยบรรดาอุปกรณ์ที่จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2562 จะรองรับ 5G ได้ทุกย่านคลื่น และภายในปี 2563 ทั่วโลกจะเริ่มเปิดให้บริการ 5G”

ส่วนการจัดสรรคลื่นสำหรับการสื่อสารขนส่งระบบราง ควรเร่งกำหนดมาตรฐานให้ชัดเจนว่าจะใช้คลื่นย่านใด เพราะหากปล่อยให้มีการลงทุนไปแล้ว แต่ต้องมีการเปลี่ยนย่านความถี่ภายหลังจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กสทช.จึงควรกำกับมาตรฐานที่ชัดเจน ซึ่งหลายประเทศยังมีการใช้ย่านคลื่นที่ต่างกัน แต่มีการกันคลื่นไว้เป็นการเฉพาะให้