กสทช. ปะทะ ดีแทค ศึกนี้มี “ลูกค้า” เป็นตัวประกัน

เป็นไปตามคาดว่า “กสทช.” จะลงมติ “ไม่ให้” บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น “ดีแทค” เข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้า ด้วยการให้เปิดให้บริการต่อเป็นการชั่วคราวหลังสิ้นสุดสัมปทาน 15 ก.ย. 2561

ตลอด 2 เดือนก่อนจะมีมตินี้ ได้เห็นการชิงไหวชิงพริบต่อรองของทั้ง “กสทช.” และ “ดีแทค” ตลอดโดย “กสทช.” มีเป้าหมาย ดึงให้เอกชนเข้าประมูลคลื่นภายใต้สัมปทานนี้ ทั้งเปลี่ยนเงื่อนไขที่หวังจะดึงดูดมากขึ้น ทั้งกดดันด้วยสิทธิการเข้าสู่มาตรการเยียวยา ขณะที่ “ดีแทค” ก็ยกสารพัดเหตุผลที่ไม่เข้าประมูลคลื่น ไปจนถึงจำนวนลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบกว่า 1 ล้านเลขหมาย โดยรวมถึงลูกค้าในระบบใบอนุญาตของ “ดีแทค ไตรเน็ต” ด้วย ไม่แค่ลูกค้า 3 แสนกว่าเลขหมายที่คงเหลือในระบบสัมปทาน

เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในที่ประชุมอยากให้ลูกค้าของดีแทคได้รับสิทธิ์เยียวยา ไม่อยากให้ต้องซิมดับ แต่กฎหมายไม่เปิดช่อง เพราะตามประกาศระบุเงื่อนไข คือ 1.ยังมีผู้ใช้บริการคงเหลืออีกมาก 2.กสทช.จัดประมูลไม่ทัน แต่กรณีนี้คือจัดทัน แต่ไม่เข้าประมูล

“ที่ประชุมก็อยากให้สิทธิ30-60 วัน แต่การอนุมัติโดยไม่มีกฎหมายรองรับก็มีโทษอาญา”

ขณะที่จำนวนลูกค้าซึ่งใช้งานบนคลื่น 850 MHz ที่เหลือจริง ๆ คือ 94,625 เลขหมาย ไม่ใช่ทั้งหมด 3 แสนกว่าเลขหมายที่คงเหลือในระบบสัมปทาน ซึ่งยังมีคลื่น 1800 MHz ที่ดีแทคมีสิทธิได้เข้าสู่มาตรการเยียวยา ส่วนลูกค้าอีก 1 ล้านเลขหมายของดีแทคไตรเน็ตที่ใช้ “โรมมิ่ง” ก็ไม่เข้าข่ายที่จะได้สิทธิ์เยียวยา

“กสทช.แจ้งให้ดีแทคเร่งย้ายลูกค้าตั้งแต่ 20 มิ.ย. 2561 นี่ถือว่าเวลาล่วงเลยมาพอสมควร และถ้าเทียบกับสัมปทานของทรูมูฟ ดีพีซีก่อนนี้ ตอนนี้สิ้นสุดมาตรการเยียวยาก็มีลูกค้าที่ต้องซิมดับไป 2 แสนเลขหมาย ของเอไอเอสดับไป 4 แสนเลขหมาย ลูกค้าที่เหลือของดีแทค 9 หมื่นเลขหมายจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะให้” และด้วยศักยภาพของระบบเคลียริ่งเฮาส์ก็โอนย้ายลูกค้าได้ 6 หมื่นเลขหมายต่อวัน เวลาที่เหลืออยู่จึงเพียงพอ”

กระบวนการจากนี้ คือ รอว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งในคดีที่ “ดีแทค” ฟ้อง กสทช.ขอเพิกถอนมติเรื่องนี้หรือไม่ เพราะทาง กสทช.ได้ส่งหนังสือแจ้งมติบอร์ดไปที่ศาลปกครองแล้ว

หากยังไม่มีคำสั่งศาล ณ เวลา 24.00 น. วันที่ 15 ก.ย. 2561 ดีแทคจะต้องปิดระบบการให้บริการบนคลื่น 850 MHz หากเข้าสู่วันที่ 16 ก.ย. 2561 แล้ว กสทช.พบว่า ยังเปิดอยู่จะถือว่าดีแทคใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม

“ดีแทคยังให้บริการแก่ลูกค้าสัมปทานบนคลื่น 1800 MHz ได้ เพราะได้สิทธิ์เข้าสู่มาตรการเยียวยาอัตโนมัติ จากการเข้าประมูลคลื่น โดยจะได้สิทธิ์ใช้คลื่นเต็มทั้ง 25 MHz ตามสัมปทานเดิมไปจนกว่า 19 ก.ย. 2561 ซึ่ง AWN (บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ในเครือ AIS) แจ้งว่าจะจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 1800 MHz งวดแรก หลังจากนั้นดีแทคจะไม่สามารถใช้คลื่น 5 MHz ในส่วนที่ AWN ประมูลได้อีก”

ขณะเดียวกัน บอร์ด กสทช.จะประชุมในวันที่ 19 ก.ย. 2561 เพื่อพิจารณาว่า “ดีแทค” จะมีสิทธิ์ใช้คลื่น 1800 MHz ในช่วงเยียวยาผู้ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน และเป็นเวลาเท่าใด เนื่องจากดีแทคประมูลคลื่นรอบใหม่เพียง 5 MHz ไม่ใช่ที่เหลือทั้งหมดอีก 20 MHz

ด้านแหล่งข่าวภายในดีแทคเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังมีความหวังว่าศาลปกครองจะกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ให้ดีแทคได้สิทธิ์เยียวยาลูกค้า รวมถึงกำลังรอว่ามติบอร์ด กสทช. 19 ก.ย.นี้จะกำหนดให้ใช้คลื่น 1800 MHz ในการเยียวยาเท่าใด ซึ่งจะส่งผลถึงการพิจารณาเวลาที่ดีแทคจะจ่ายเงินประมูลคลื่น 1800 MHz งวดแรก เพราะผู้ชนะประมูลมีเวลา 90 วันที่จะนำเงินมาชำระได้