นับหนึ่งควบรวม”ทีโอที-แคท”

“ทีโอที-แคท” นับหนึ่งเดินหน้าควบรวม ส่งพนักงาน 2 บริษัทลูก “NBN-NGDC” กลับต้นสังกัดเดิม เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดการ “คน-ทรัพย์สิน”ก่อนควบรวมให้เสร็จไตรมาสแรกปี 2562 ด้าน กสทช.ย้ำต้องระบุในกฎหมายให้ชัดถึงการโอนสิทธิ์ในคลื่น มิฉะนั้นอาจขัดมาตรา 46 พ.ร.บ.กสทช.

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีมติ (12 ก.ย. 2561) ให้ควบรวมกิจการของ บมจ.ทีโอทีและ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และทั้ง 2 หน่วยงาน จัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการให้ครบถ้วนเสนอที่ประชุม คนร. พ.ย.นี้ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปพร้อมทั้งให้ยกเลิกการตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) เป็นบริษัทลูกตามแผนเดิม

“เมื่อควบรวมแล้วก็จะตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา การโอนสิทธิหน้าที่ก็ไม่มีปัญหา เพราะเป็นการควบรวม ไม่ใช่การขาย จากนี้จะทำตารางเวลาเกี่ยวกับกระบวนการว่า ทำอย่างไร ตอนไหนบ้าง คาดว่า ก.พ. 2562 ก็ตั้งบริษัทใหม่เสร็จ ต่อไปธุรกิจก็ไม่ต้องแข่งขันกัน แต่จะเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่ต้องไปแข่งกับผู้ประกอบการรายอื่น”

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตาม พ.ร.บ.กสทช. มาตรา 46 กำหนดว่า สิทธิ์ในคลื่นความถี่เป็นสิทธิ์เฉพาะตัวไม่อาจโอนให้กันได้

“ยังบอกไม่ได้ว่าจะโอนคลื่นให้กันได้หรือไม่ อยู่ที่ว่าจะยกร่างกฎหมายในการควบรวมอย่างไร ซึ่ง กสทช.ยินดีที่จะเข้าไปช่วยดูให้ หากมีการยกร่างมาแล้ว”

ขณะที่แหล่งข่าวภายในแคทเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติ คนร. เป็นการควบรวมให้ทันไตรมาส 1 ปี 2562 จากนี้ฝ่ายบริหารจะมีคำสั่งให้พนักงานของ NBN และ NGDC กลับไปทำงานต้นสังกัดเดิมก่อนในระหว่างที่รอกระบวนการควบรวม ถือเป็นการยุบทั้ง 2 บริษัทลูกตามมติ คนร.เดิม

ขณะที่คณะทำงานร่วมของดีอี ทีโอทีและแคท จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการคนและทรัพย์สินที่จะต้องควบรวม

“เมื่อควบรวมกันแล้วก็จะเหลือบอร์ดบริหารเพียง 1 เดียว แต่เบื้องต้นจะมี 2 บิสซิเนสยูนิต แยกคนของทีโอทีกับแคท โดยยังทำงานตามหน้าที่เดิมไปก่อน แล้วค่อย ๆ รวมส่วนที่ซ้ำซ้อน”

ส่วนข้อพิพาทที่ทั้ง 2 บริษัทมีต่อกันนั้น ที่มูลค่ามากที่สุดคือ ค่าแอ็กเซสชาร์จ ที่ทีโอทีฟ้องแคท 347,243 ล้านบาท