ทรู-CJ ทางลัดสู่ฮับอาเซียน

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา

เป็นที่รู้กันในวงการบรอดแคสต์ว่า “การซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์” ช่วย “ลดต้นทุน-ลดความเสี่ยง” ได้อย่างดี ทำให้ช่องทีวีดิจิทัลต่างมีคอนเทนต์จากสารพัดประเทศ แม้แต่ “ตุรกี” มาฉาย แต่ที่ฮอตฮิตสุดต้องจากแดนกิมจิ

“พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ต้นทุนถูกกว่าผลิตเอง และการันตีได้ระดับหนึ่งว่า “จะไม่แป้ก” แต่ในทางกลับกัน “ค่าลิขสิทธิ์” เป็นรายได้ที่ยั่งยืน ทั้งความเป็น “โลคอล” ยังช่วยทำให้เข้าถึงคนดูได้มากขึ้น

ที่ผ่านมา ทรูฯ จึงได้บาลานซ์ด้วยการเป็นผู้นำเข้าคอนเทนต์ต่างประเทศดี ๆ มาผลิตเป็น “โลคอลคอนเทนต์”

แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ “ทรู” รู้ว่า ปัญหาในวงการนี้ไม่ใช่เรื่องเงินในการลงทุน แต่คือ “คน” ที่ขาดแคลนในทุกสาขา จึงตัดสินใจจับมือ “CJ ENM” ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจบันเทิงครบวงจรจากเกาหลีใต้ ตั้งบริษัทร่วมทุน “ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์” รวมความเชี่ยวชาญของด้านคอนเทนต์ของ CJ ENM กับความแข็งแกร่งด้านคอนเวอร์เจนซ์แพลตฟอร์มของทรู พร้อมปักธงให้ไทยก้าวสู่เป็น “ฮับด้านการผลิตคอนเทนต์ในอาเซียน” ภายใน 5 ปี

“ความร่วมมือกับ CJ จะทำให้เราได้เรียนลัด ก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ต้องลองผิด เรียนรู้แต่สิ่งถูก จากผู้ผลิตคอนเทนต์ที่คนทั่วโลกยอมรับ ฟอร์แมตของ CJ จะพัฒนาทักษะคนของเราให้สูงขึ้น ทั้งวิธีการโปรดักชั่น การเขียนบท การเล่าเรื่อง ในเวลาเท่า ๆ กัน CJ มีวิธีผลิตที่ทำให้ได้เนื้องานมากกว่าที่เราเคยผลิต 2 เท่า และยังมีคุณภาพกว่า”

ที่สำคัญ คือ แม้ว่าคอนเทนต์ของ “CJ ENM” จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ “ความเป็นเกาหลี” อาจจะยังเป็นอุปสรรคในการทำตลาดบางประเทศ ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ขณะที่ “ความเป็นไทย” สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า จึงเป็นคำตอบว่าทำไมการ “รีเมก” ฟอร์แมตฮิตจึงเป็นตัวช่วยให้ทำตลาดให้กว้างกว่าในเอเชีย และทำให้การก้าวสู่ “ฮับ” ผู้ผลิตคอนเทนต์ตามเป้าไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม

ด้าน “อภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า ช่วง 1-2 ปีแรกจะมุ่งศึกษาและผลิตฟอร์แมตคอนเทนต์ของทาง CJ ENM เพื่อต่อยอดการพัฒนาในปีถัด ๆ ไป ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณราว 300-400 ล้านบาท กับการผลิต 6-7 รายการ ขณะที่มีรายได้เข้ามาแล้วราว 440 ล้าน โดยมาจากโฆษณาและการขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศ