เมื่อ “แกร็บ” ปะทะ “เก็ท” จุดยืนที่แตกต่างบนสมรภูมิเดือด

ยุคนี้ใคร ๆ ก็อยากเป็น “ซูเปอร์แอป” หนึ่งในนั้นคือ “แกร็บ” ที่ปักธงลุยตลาดไทยมากว่า 5 ปีแล้ว ขณะที่ “โกเจ็ก” สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นที่เป็นซูเปอร์แอปแล้วในอินโดนีเซีย พร้อมบุกตลาดไทย ภายใต้ชื่อ “GET” (เก็ท)

“ธรินทร์ ธนียวัน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แกร็บเติบโตต่อเนื่องทุกปี ทั้งในแง่ของผู้ใช้งานและผู้ขับขี่พาร์ตเนอร์ ซึ่งปัจจุบันมีคนขับและผู้โดยสารกว่า 1 ล้านคน โดยให้บริการ 16 จังหวัด 17 เมือง

โดยได้เปลี่ยนจุดยืนของแบรนด์เป็นซูเปอร์แอป หรือ everyday app รวมบริการต่าง ๆ เช่น รับส่งอาหาร (Grab Food) รับซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ (Grab Fresh) ซึ่งแกร็บฟู้ดเติบโตถึง 20 เท่า ขณะที่แกร็บเฟรชเติบโต 2 เท่า ในอนาคตจะเพิ่มบริการตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคอีกเรื่อย ๆ เช่น แกร็บเพย์ ที่ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะเปิดให้ชำระเงินผ่านมือถือและให้บริการทางการเงินอื่น ๆ และเชื่อว่า ในอนาคตจะมีการทำงานร่วมกันกับโตโยต้าในไทย หลัง “โตโยต้า” ได้ลงทุนในแกร็บกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“เราพยายามสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นแอปที่ใช้ได้ทุกวัน ไปอยู่ในใจผู้บริโภคมากกว่านี้ ซึ่งเราอยากจะเป็นท็อป 10 แบรนด์ที่ผู้บริโภคนึกถึง”

ทั้งจะเดินหน้าทำความเข้าใจกับ “วินมอเตอร์ไซค์” ว่า ไม่ได้เข้ามาแย่งงาน แต่แกร็บจะช่วยให้ให้มีรายได้มากขึ้น จากการ “ส่งคน-ส่งของ-ส่งอาหาร”

“แกร็บเป็นทางเลือก แท็กซี่ก็ยังคงมีอยู่ไม่ได้หายไป เพราะยังมีความต้องการในตลาดอีกมาก”

แต่อุปสรรคสำคัญที่สุดของแกร็บ คือ “กฎหมาย” ที่ยังไม่เปิดกว้าง ทำให้การขยายบริการไปในจังหวัดอื่น ๆ ยังมีปัญหา ขณะที่ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีกฎหมายรองรับหมด ซึ่งคาดหวังว่าจะชัดเจนเรื่องนี้ในไทยหลังการเลือกตั้งในต้นปีหน้า

“ในหลายประเทศออกเป็นใบขับขี่ชนิดพิเศษ จึงทำให้ตลาดเติบโตรวดเร็ว ซึ่งแกร็บในไทยได้ยื่นเรื่องขอให้พิจารณาไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว และหารือกับกระทรวงคมนาคมตลอด ซึ่งขณะนี้ไทยยังมีปัญหาที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ แต่ระหว่างนี้แกร็บยังเดินหน้าลงทุนตามแผนเดิม”

ส่วนการแข่งขันที่เริ่มมีผู้เล่นหลายรายเข้ามาในตลาด “แกร็บ” ไม่ได้กังวล เพราะยิ่งแข่งขัน ยิ่งช่วยกันทำให้เกิดการสร้างบริการใหม่ ๆ ที่เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

ฟากน้องใหม่ในตลาดไทย “ก่อลาภ สุวัชรังกูร” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และ Chief Marketing Officer ของ GET เปิดเผยว่า “โกเจ็ก” เข้ามาร่วมลงทุนและสนับสนุนด้านเทคโนโลยีในบริษัท ซึ่งขณะนี้กำลังสำรวจและเก็บข้อมูลจากลูกค้า โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดทดลองให้บริการได้ในเดือน ต.ค.นี้

“เก็ทจะปรับตัวให้เข้ากับความเป็นท้องถิ่นให้มากที่สุด ทั้งในส่วนของผู้ใช้บริการ พาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาให้บริการลูกค้า โดยทั้งหมดจะดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งการมีใบขับขี่สาธารณะ การใช้รถป้ายทะเบียนสาธารณะ และการคิดค่าบริการภายใต้เพดานราคาที่รัฐกำหนดไว้ แต่เก็ทจะมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าเป็นระยะ ๆ รวมถึงทำความเข้าใจกับพี่วินมอเตอร์ไซค์ว่า ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำธุรกิจของเขา”

ขณะที่ “คริสตัล วิดจาจา” รองประธานอาวุโส ฝ่ายเทคโนโลยีข้อมูลและวางแผนธุรกิจ โกเจ็ก กล่าวว่า โกเจ็กมียอดดาวน์โหลด 98 ล้านครั้ง และมี 25 บริการบนแพลตฟอร์ม โดยมี “ดาต้า” เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเก็บข้อมูลทั้งจากลูกค้าเพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์พฤติกรรม รวมถึงข้อมูลแวดล้อมที่บริษัทควบคุมไม่ได้ อย่างข้อมูลอากาศ ซึ่งเมื่อแมตช์กับข้อมูลส่วนของลูกค้าแล้ว ยังทำให้คาดได้ว่าสถานการณ์ใดที่ลูกค้าจะสั่งอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อให้แพลตฟอร์มรับมือได้ทันกับเหตุการณ์ และแนะนำในสิ่งที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

“กระบวนการเหล่านี้ถือเป็น core value ที่ทำให้ผู้ใช้งานอยู่กับโกเจ็กได้นานยิ่งขึ้น ทั้งหมดจะถูกส่งมายัง GET ที่เป็นผู้ให้บริการประเทศไทยด้วย”