อย.-กสทช.จัดทำแนวทางปฏิบัติจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชี้ลดเวลาสรุปเรื่อง6เดือน เหลือ3วัน

นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีนโยบายร่วมกันในการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อทุกประเภท ที่ผ่านมา อย. และสำนักงาน กสทช. (ส่วนกลาง) ได้บูรณาการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 โดยส่งเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรายการและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้การทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 6 เดือน หรือบางกรณีใช้เวลาร่วมปี นอกจากนี้ยังมีความซ้ำซ้อนด้านบทลงโทษ ปัจจุบันสามารถสรุปเรื่องให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 วัน ก่อให้เกิดการตื่นตัวและปรับตัวของผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง เนื่องจากโทษตามกฎหมาย กสทช. นั้นค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่ามีสถานีวิทยุกระจายเสียงราว 300 สถานี มีการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป็นมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานเดียวกันทั้งประเทศ อย. และ สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ โดย ให้ สสจ. บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ภาค และเขต ซึ่งกรณีที่ได้รับการประสาน ขอให้พิจารณาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพว่าเป็นไปตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือไม่ และหลังจากพิจารณาแล้วเสร็จ ให้จัดทำรายงานส่งผลการพิจารณาส่งกลับหน่วยงาน กสทช. โดยเร็ว โดยใช้รูปแบบหนังสือส่งรายงานการปฏิบัติงานให้กับ สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง และเพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ขอให้ใช้รูปแบบการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรับและส่งข้อมูลการเฝ้าระวังและแจ้งผลการพิจารณาตรวจสอบโฆษณา ระหว่าง สสจ. สำนักงาน กสทช. ภาค และเขต ล่วงหน้า

กรณีที่ได้รับการประสาน ให้พิจารณาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพว่าเป็นไปตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือไม่ หลังจากพิจารณาแล้ว ให้จัดทำรายงานส่งผลการพิจารณาส่งกลับหน่วยงาน กสทช. โดยเร็ว โดยใช้รูปแบบหนังสือส่งรายงานการปฏิบัติงานให้กับ สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง และเพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงานขอให้ใช้รูปแบบการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรับและส่งข้อมูลการเฝ้าระวังและแจ้งผลการพิจารณาตรวจสอบโฆษณา ระหว่าง สสจ. สำนักงาน กสทช. ภาค และเขต ล่วงหน้าไปก่อน จากนั้นจึงจัดทำหนังสือเพื่อแจ้งรายงานการปฏิบัติงานไปยัง สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง อย่างเป็นทางการต่อไป