ไพรซ์ซ่าผ่า 4 เทรนด์อีคอมเมิร์ซปี 2562 เตรียมรับมืออย่างไรเมื่อทุกแพลตฟอร์มมุ่งขายของ

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมอีคอมเมิร์ซในปี 2561 คาดว่ามีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 20-30% และคาดว่าปีหน้ายังคงรักษาระดับการเติบโตได้ และสำหรับอีคอมเมิร์ซเทรนด์ในปี 2562 มองว่ามี 4 เทรนด์หลัก ๆ ได้แก่ 1.ทุกแพลตฟอร์มมุ่งสู่ “อีคอมเมิร์ซ” โดย 5 แพลตฟอร์มหลักที่คนใช้ คือ 1.โซเชียล 2.เสิร์ช 3.อีเมล์ 4.เอนเตอร์เทน 5.ช้อปปิ้ง ซึ่งเกือบทุกแพลตฟอร์มมุ่งสู่การขายสินค้า เพื่อให้ “รู้ใจ” ผู้ใช้ ดังนั้นจำเป็นต้องเพิ่มเดต้าให้มากขึ้น ซึ่งอีคอมเมิร์ซเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะทำให้อยู่บนเพลตฟอร์มได้นานขึ้น ซึ่งภายในปี 2563 คนไทย 84% จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ และปัจจุบันคนไทยใช้เวลากับโมบายอินเตอร์เน็ตมากสุดในโลก 4.2 ชั่วโมง/วัน

“ทุกแพลตฟอร์มจะเปิดขายของออนไลน์ อย่างกูเกิลมีกูเกิลช้อปปิ้ง, เฟซบุ๊คมีมาร์เก็ตเพลส, โมบายแบงก์มีขายสินค้า ดังนั้นจะเห็นว่าทุกคนกำลังมุ่งมาทางนี้ เพื่อให้รู้ใจลูกค้ามากขึ้น และดึงให้ใช้เพลตฟอร์มนานขึ้น”

2.สินค้าต่างชาติทะลัก โดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 3 รายในไทยมีสินค้ารวมกัน 75 ล้านรายการ แต่ 80% เป็นสินค้าจากต่างประเทศ และในปีหน้าคาดว่ามีสินค้ากว่า 100 ล้านรายการ โดยสินค้าที่มีสัดส่วนจากต่างประเทศมากสุด ได้แก่ 1.กีฬา 2.สัตว์เลี้ยง 3.เครื่องประดับ ส่วนสินค้าที่มาจากไทยเป็นหลัก ได้แก่ อุปโภคบริโภค เฮลท์และบิวตี้ เทรนด์ที่ 3.อีเพย์เมนต์ เนื่องจากการใช้จ่ายเงินสดหรือ cash on delivery (cod) มีต้นทุน 1.26 บาท/รายการ ขณะที่อีเพย์เมนต์มีต้นทุน 0.1-0.4% หรือต่ำกว่า 4 เท่า ดังนั้นผู้ให้บริการพยายามจะผลักดันให้จ่ายผ่านอีเพย์เมนต์ โดยจะเห็นว่ามาร์เก็ตเพลสทุกแพลตฟอร์มกำลังทำอีวอลเลทของตัวเอง

4.ออมนิชาแนล เพื่อให้คนซื้อสามารถซื้อได้ในหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ โซเชียล มาร์เก็ตเพลส และหน้าร้าน เพื่อรองรับลูกค้าทุกจุด ซึ่งปัจจุบันการเปิดหน้าร้านทำได้ไม่ยาก อย่าง H&M ที่จีน กลยุทธ์ใช้ออมนิชาแนลอย่างจริงจัง โดยมีหน้าร้านและอีคอม เมื่อคนซื้อขายช่องทางไหนก็ตาม ข้อมูลจะเชื่อมเข้าสู่ฐานข้อมูลกลาง ดังนั้นจากนี้ไปผู้ขายควรมีช่องทางการขายที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับช่องทางไหนช่องทางหนึ่ง และที่สำคัญต้องเก็บข้อมูล เพื่อสร้างฐานข้อมูลในทุกช่องทางเพื่อต่อยอดบริการ

“ปัจจัยที่ทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโต คือ การใช้เวลากับโมบายอินเตอร์เน็ตเยอะ แปลว่ามีโอกาสที่จะซื้อสินค้าเยอะ ดังนั้นเมื่ออะไรเป็นดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการสามารถมีตัวตนได้ทุกที่ในดิจิทัล ส่วนอีเพย์เมนต์ทุกแบงก์สนับสนุน ด้านโลจิสติกส์ไทยก็ไม่ได้มีปัญหา ดังนั้นไม่มีอะไรมาฉุดการเติบโตของอีคอมเมิร์ซแน่นอน”