5G-Podcasting อนาคตใหม่พลิกโฉมหนุน 4.0

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดงานสัมมนาวารสารวิชาการประจำปี เพื่อฉายภาพอดีตและอนาคตของวงการสื่อสารและเทคโนโลยีในประเทศไทย โดย “พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ” อดีตรองประธาน กสทช. เปิดเผยว่า ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ “trade war” หรือ “สงครามทางการค้า” ในปัจจุบันมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากยุคก่อนที่ประเทศใดมีอาวุธนิวเคลียร์จะถือว่าเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่ในตอนนี้ประเทศใดที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาไมโครอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นมหาอำนาจใหม่

5G ตัวชี้วัดเปลี่ยนผ่าน

เทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนผ่านระบบ 5G กำลังสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกันได้ หุ่นยนต์จะถูกใช้มากกว่าคน ประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมภาคการผลิตจะเปลี่ยนไป การส่งข้อมูลจะรวดเร็วมากขึ้น คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมภาคการเงินจะกลายไปเป็นคลาวด์คอมพิวติ้ง ภาคอีคอมเมิร์ซ เฟซบุ๊ก กูเกิล อเมซอน อาลีบาบา จะทำบริษัทธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์เอง โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเข้าสลับไปแอปพลิเคชั่นของธนาคารเพื่อจ่ายเงิน จะทำให้อุตสาหกรรมธนาคารสั่นสะเทือน

“ต้องรีสกิลคนดั้งเดิมให้ทัน ไม่เช่นนั้นประเทศจะเสื่อมถอยในอุตสาหกรรม 4.0”

ดิจิทัลดันการเมืองเปลี่ยน

ด้าน “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงแนวทางที่ดิจิทัลจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ (landscape) ทางการเมืองของประเทศ โดยระบุว่า ประเทศไทยเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2553 ขณะนั้นยังไม่มีเทคโนโลยี 3G ยอดผู้ใช้ 2G อยู่ที่ 71.7 ล้านเลขหมาย แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้เพียง 1.5 ล้านเลขหมาย ส่วน 3G, 4G มีถึง 123.5 ล้านเลขหมาย

หากนักการเมืองยังทำตัวแบบเดิมอาจสอบตกได้ง่าย ๆ เพราะโลกเปลี่ยนแล้วและเมื่อมี 5G สิ่งที่จะเปลี่ยนคือ 1. การเลือกตั้งจะเป็นการลงคะแนนแบบไร้พรมแดน สามารถรู้ผลคะแนนแบบเรียลไทม์ 2. โครงสร้างการหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัครจะไม่ผ่านคนกลาง ในอดีตการหาเสียงเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ในปัจจุบันทุกคนมีช่องทางติดต่อผู้สมัครโดยตรงผ่านโซเชียลมีเดีย พรรคการเมืองสามารถใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์กลุ่มฐานเสียงและนโยบายตามความต้องการ

Podcasting ทางเลือกใหม่

“ชนินทร เพ็ญสูตร” อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในยุคที่อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้ผลิตสื่อและเผยแพร่ไปได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ podcasting หรือการผลิตและเผยแพร่เสียงบนอินเทอร์เน็ต กลายเป็นสื่อทางเลือกใหม่ ปัจจุบันมีกว่า 550,000 รายการทั่วโลก มากกว่า100ภาษา ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ทำ podcasting ที่หลากหลาย ทั้งบริษัท มหาวิทยาลัย สำนักข่าว ถือว่าหลากหลายมาก โดย 24% ของคนสหรัฐอเมริกาฟัง podcasting ส่วนในไทยยังเป็นสื่อทางเลือกใหม่ที่มีผู้ฟังเพียงเฉพาะกลุ่ม ซึ่งการผลิตสื่อ podcasting ทำได้ง่ายมาก อาจจะใช้มือถือเพียงเครื่องเดียวในการบันทึกเสียง ต้นทุนต่ำมากเมื่อเทียบกับสื่อวิทยุ

“podcasting ในไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นเชิงงานอดิเรก มีที่ทำเป็นหลักไม่กี่องค์กร ยังขาดรายการที่มีเนื้อหาคุณภาพ เจาะลึก และส่วนใหญ่มีเพียงการพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ และการสัมภาษณ์ อนาคตสื่อนี้น่าจะไปได้อีกไกล”

ลุ้นต้นแบบวิทยุสาธารณะ

เมื่อย้อนกลับไปถึงสื่อดั้งเดิมอย่างวิทยุ “ธนกร ศรีสุขใส” ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. เปิดเผยว่า ในยุคแรกวิทยุเป็นเครื่องมือการสื่อสารของรัฐ และพัฒนาขึ้นมาจนถึงยุคที่เอกชนต้องจ่าย “ค่าเช่าคลื่น” สูงมากเพื่อใช้ทำการค้า จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปีཤ มาตรา 40 กำหนดให้ “คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” จึงเป็นจุดเปลี่ยนของวงการวิทยุ แต่ด้วยยังไม่มีองค์กรกำกับดูแล จึงเกิดวิทยุชุมชนขึ้นกว่าหมื่นสถานีโดยไม่มีกฎเกณฑ์กำกับ

“แนวทางสำหรับวิทยุในอนาคต หากต้องการจะให้มีวิทยุสาธารณะ จะต้องทำสถานีต้นแบบขึ้นมา 4 ภาค ทำภาคละ 10 สถานี และให้การสนับสนุนสถานีละ1ล้านบาท ต้องส่งเสริมการผลิตรายการ รวมกลุ่มกันผลิตรายการ”

สกัดผลกระทบโฆษณา

“พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ” กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีทำให้การสื่อสารแพร่หลาย ภารกิจหนึ่งของ กสทช. คือ การคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อป้องกันผลกระทบจากการโฆษณาอาหารและยาที่เกินจริง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ กสทช.ได้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ แต่ยังต่างคนต่างทำ ทำให้การตรวจสอบใช้เวลานาน

กสทช. จึงได้ร่วมมือกับ อย. ตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม ทำให้สามารถทำเรื่องตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน จากแต่ใช้เวลาเป็นเวลา 6-12 เดือน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!