เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี เปิดโลกนวัตกรรมออกแบบอนาคต

7 ปีแล้ว กับโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” อีกการบ่มเพาะสตาร์ตอัพภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ และ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น ปั้นผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เข้าวงการ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้ง 3 ทีมผู้ชนะได้บินลัดฟ้าไปดูนวัตกรรมล้ำยุค ณ ประเทศญี่ปุ่น

ไม่ว่าจะเป็น “Panasonic Center Tokyo” ที่มีทั้งโซนนำเสนอนวัตกรรมล่าสุดที่ถูกพัฒนาออกมาเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์แล้ว กับโซนนวัตกรรมกีฬา ที่ถ่ายทอดประวัติความเป็นมาของการจัดแข่งกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิกฤดูหนาวและพาราลิมปิก ซึ่งญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปี ค.ศ. 2020

พร้อมนำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อระหว่าง “กีฬา-วัฒนธรรม-การศึกษา”และที่ชั้น 3 ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Risupia ที่ให้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบที่สนุกสนาน ช่วยย้ำชัดว่า 2 ศาสตร์อันแสนน่าเบื่อของหลายคน ล้วนแฝงอยู่รอบตัว และทำให้สารพัดทฤษฎีกลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ตอบคำถามที่เด็กๆ มักสงสัยว่า “เรียนไปทำไม”

อาทิ ฐานเกมเรื่อง “พลังงานกล” ในทางฟิสิกส์ ที่ใช้หน้าจอ LED ขนาดใหญ่ จำลองสภาวะสุญญากาศที่ไม่มีแรงต้านของอากาศและไม่มีแรงเสียดทาน โดยผู้เล่นเกมต้องหาจุดพาดตัวต่อรับลูกบอลที่ถูกปล่อยจากท่อด้านบน เพื่อส่งลูกบอลที่มีแรงเหวี่ยงไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ได้

รูปแบบการให้ความรู้ สมแล้วกับวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง ที่ต้องการกระตุ้นความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเด็กญี่ปุ่นที่ลดน้อยลง ซึ่งสะเทือนต่อความเชื่อที่ว่า “วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์” คือความแข็งแกร่งของชาติ โดยสิ่งที่บ่งชี้สำคัญคือสถานะผู้นำของโลกด้านการผลิตและเทคโนโลยี ที่ญี่ปุ่นภาคภูมิใจมานานเริ่มเสื่อมถอย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2549

นอกจากนี้ทั้ง 3 ทีมชนะเลิศยังได้ไปชมนวัตกรรมล้ำยุคที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์สมัยใหม่แห่งชาติ (National Museum of Emerging Science) หรือ “พิพิธภัณฑ์มิไรคัง (Miraikan)” โดยมีไฮไลต์คือ แบบจำลองโลกใบนี้ Geo-Cosmos ที่จะแสดงการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งชั้นโอโซน สภาพอากาศ พื้นดิน ไปจนถึงหุ่นยนต์ในเวอร์ชั่นต่าง ๆ ตั้งแต่ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีอย่าง ASIMO หุ่นยนต์แมวน้ำบำบัดผู้ป่วยด้วยการสัมผัสนุ่ม ๆ หรือที่ล้ำยุคอย่างหุ่นยนต์แอนดรอยด์ที่เหมือนมนุษย์อย่างมาก รวมไปถึงการอธิบายเรื่องเข้าใจยาก

อย่างการจัดแสดง “Hands-On Model ของอินเทอร์เน็ต” ที่ใช้ลูกบอลสีขาวและสีดำสื่อให้เห็นว่า ข้อมูลถูกส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างไร หรือแม้แต่ “Mission Survival : 10 Billion” อธิบายถึงภัยพิบัติสมัยใหม่ที่ไม่ใช่แค่แผ่นดินไหว แต่เป็น นิวเคลียร์ โรคระบาด สภาพอากาศ เพื่อการอยู่รอดในศตวรรษต่อไป

แต่ละโซนตอกย้ำแนวคิดที่ว่า “เราสามารถออกแบบอนาคตได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ยิ่งส่วนสำคัญของการดูงานครั้งนี้ คือโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกับ accelerator และนักลงทุนในสตาร์ตอัพของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น “O-1 Booster” และ “ProtoStar” ซึ่งทั้งคู่ทำหน้าที่ในการ “แมตชิ่ง” แหล่งเงินทุนกับสตาร์ตอัพ

ยิ่งชัดเจนว่า “วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี” เป็นที่ต้องการอย่างมากของโลกธุรกิจยุคนี้และยุคหน้า เห็นได้ชัดจากการนำเสนอผลงาน “ActiveBoost” ไมโครแคปซูลอัจฉริยะ ของทีมรองชนะเลิศ ซึ่งเป็นงานของนักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ นำทีมโดย “ดร.มัตถกา คงขาว”ที่ใช้อนุภาคนาโนอัจฉริยะ ช่วยกักเก็บสารอาหารที่มีประโยชน์ และปล่อยเข้าสู่ร่างกายได้อย่างจําเพาะเจาะจงและเต็มประสิทธิภาพ ได้รับความสนใจอย่างมากจาก accelerator

โดยระบุตรงกันว่า เป็นการผสานนวัตกรรมตอบโจทย์ธุรกิจสุขภาพและความงาม รวมถึงการก้าวสู่สังคมสูงวัย

พร้อมย้ำว่า “DeepTech” เป็นสิ่งที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างพร้อมลงทุน ทั้งพร้อมเปิดกว้างร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพสัญชาติใดก็ได้ที่สร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาของทั้งผู้คน ธุรกิจและอุตสาหกรรมได้จริง

“Takeru Kawashima” ผู้จัดการของ O-1 Booster ยกตัวอย่างสตาร์ตอัพสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาง่าย ๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่ผลงานน่าประทับใจมาก คือ สตาร์ตอัพที่พัฒนา IOT สำหรับแมว ที่เฝ้าสังเกตพฤติกรรม ลักษณะการกินอาหารการขับถ่าย เพื่อระบุว่า เมื่อใดที่จำเป็นต้องพาไปพบสัตวแพทย์แล้ว

หัวใจสำคัญคือ มีตลาดชัดเจน ตอบโจทย์ธุรกิจได้

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!