5G-บิ๊กดาต้า-หุ่นยนต์ เทคโนโลยีวันนี้เพื่อสังคมผู้สูงวัย

ประเทศไทยก้าวสู่ “สังคมสูงวัย” ด้วยประชากรสูงอายุที่มีกว่า 16.5% และในปี 2564 จะถึง 20% สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCT) ร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศญี่ปุ่น (TTA) จัดสัมมนา “Digital Technology and Transformation to Smart Life & Aging Society”

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยในฐานะประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รายจ่ายรัฐบาลเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แนวทาง กสทช.คือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ลดความเหลื่อมล้ำและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลด้วยการรักษาทางไกล

“กำลังตกลงกับกรมการแพทย์ ทดลองรักษาพยาบาล 4 โรค ด้วย telehealth ได้แก่ โรคผิวหนัง ความดัน ตา และเบาหวาน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่ารักษาพยาบาล ทั้งรัฐประหยัด 38,000 ล้านบาทต่อปี”

5G ตอบโจทย์แพทย์ทางไกล

“ดร.ฮิโรชิ นาคามุระ” รองประธานกรรมการบริหารหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม NTT Docomo Inc. ระบุว่า มีแผนเปิด 5G ในฤดูใบไม้ผลิปี 2563 และเริ่มนำกรณีศึกษามาทดลองใน 5G โอเพ่นแล็บ สร้างอีโคซิสเต็ม โดยด้านการแพทย์และสาธารณสุข 5G จะช่วยแก้ปัญหาโรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง โดยใช้การสื่อสารทางไกลแบบเรียลไทม์ให้ผู้ป่วยกับแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลอื่นวินิจฉัยโรคได้ด้วยการใช้ภาพความละเอียดสูง การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องอาศัยการรับส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วและมีความเสถียรสูง

ด้าน “วันวิสาข์ จันทระ” ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลลูกค้า บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลายประเทศเริ่มเปิดตัวแอปพลิเคชั่นบน 5G ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในโลกอย่างด้านการดูแลสุขภาพในสังคมผู้สูงอายุสิงคโปร์ จากสถิติผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีโอกาสหกล้มง่ายถึง 1 ใน 3 และ 1 ใน 5 ที่ประสบอุบัติเหตุมีโอกาสเสียชีวิต

สถาบันวิจัยและพัฒนาของโนเกีย ได้ใช้ดีปแมชีนเลิร์นนิ่งมาใช้ในการสังเกตรูปแบบการเดิน ความเร็ว ลักษณะความห่างของก้าว นำมาวิเคราะห์เพื่อตรวจจับการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะใช้ความเร็วของ 5G ส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปยังศูนย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือได้ทันที ทั้งลดค่าใช้จ่ายไม่ต้องจ้างคนมาสังเกต เฝ้าระวังผู้สูงอายุต่อยอดบิ๊กดาต้า

ขณะที่ “ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีเพื่อการแพทย์ “แพลตฟอร์ม health data center (HDC)” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขทำมาแล้ว 4 ปี บันทึกข้อมูลของผู้ป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาลในฐานข้อมูลบิ๊ก ดาต้ากระทรวงสาธารณสุข ทั้งมีแอปฯ

“DoctorAsks” ช่วยสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกับผู้ป่วยชาวเมียนมาที่พูดหรืออ่านภาษาไทยไม่ได้ ทั้งนำบล็อกเชนมาใช้ในการส่งตัวผู้ป่วยไปยังอีกโรงพยาบาลได้ นำร่องแล้วที่สระแก้วทั้งรัฐบาลเริ่มโครงการ “Genomics Thailand ปี 2020-2024” สแกน DNA คนไทย 50,000 คน วิเคราะห์ลักษณะของคนไทยว่ามีแนวโน้มแพ้ยาประเภทใด

“การทำบิ๊กดาต้าไม่ใช่แค่มองเรื่องการสร้างระบบ แต่ต้องมองเรื่องการสร้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล มาเลเซียมี 8,000 คน อีก 5 ปีจะเพิ่มให้ได้ถึง 20,000 คน สิงคโปร์จะทุ่ม 3,000 ล้านสร้างให้ได้ 10,000 คน ใน 5 ปี ขณะที่ไทยไม่ถึง 100 คน เราต้องเปลี่ยนการสร้างคนวิเคราะห์ข้อมูล ไอโอที โอเพ่นดาต้า”

เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหา

“จักร โกศัลยวัตร” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ PharmaSafe ระบุว่า “สังคมผู้สูงอายุ” คือโอกาสใหม่ที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาจากปัจจุบันคนมีลูกน้อยลง ผู้สูงอายุขาดลูกหลานดูแล เทคโนโลยีตอบโจทย์ได้การศึกษาพบว่า 47% ของรายจ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเป็นค่าใช้จ่ายยา มีผู้ป่วยที่ใช้ยาไม่ถูกต้องถึง 49% รวมความเสียหายปีละเกือบแสนล้าน ประชาชนเสียสุขภาพ เพราะใช้ยาผิดจะหายช้า ป่วยเรื้อรัง ซึ่ง PharmaSafe เป็นแอปฯที่เป็นผู้ช่วยใช้ยาอย่างปลอดภัย ทุกครั้งเมื่อผู้ป่วยได้รับยาจากโรงพยาบาล ข้อมูลยาจะส่งเข้ามือถือ ตั้งเตือนเวลากินยาอัตโนมัติ

ด้าน “เฉลิมพล ปุณโณทก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด เปิดเผยว่า หุ่นยนต์ “ดินสอ” เกิดจากการรวบรวมแชมป์แข่งขันหุ่นยนต์จากทั่วประเทศมาผนวกกับนักวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สร้างหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มใช้แล้วในบ้านพักคนชราในญี่ปุ่นก่อนนำกลับมาเจาะกลุ่มโรงพยาบาลในไทย ซึ่งหุ่นยนต์ช่วยให้คนชราได้สื่อสารกับลูกหลานกับแพทย์ มีเอไอเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการหกล้มของผู้สูงอายุ มีปุ่มเลือกผู้ดูแล รถพยาบาลฉุกเฉิน เตือนให้กินยา ให้วัดความดัน มีฟังก์ชั่นชวนเล่นเกมฝึกสมอง สวดมนต์ ฟังเพลง ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้ดีขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี