เปิดแสตมป์ประวัติศาสตร์ตั้งแต่ครั้ง “ทรงพระเยาว์” จวบจน “บรมราชาภิเษก”

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนดูตราไปรษณียากรที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ดวงแรกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดทำ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ”

โดยตราไปรษณียากรดวงแรก คือ “ที่ระลึกทรงบรรลุนิติภาวะ”  วันแรกจำหน่ายคือ 28 กรกฎาคม 2515

จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา โดยเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อครั้งยังทรงพระนาม “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

เป็นแสตมป์ชนิดราคา 75 สตางค์  จัดพิมพ์ทั้งหมด 5 ล้านดวง ผู้ออกแบบคือ น.ส.ผ่องศรี ศาลยาชีวิน และจัดพิมพ์ที่ สำนักพิมพ์รัฐบาล กระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น

ถัดมาคือ ชุดที่ระลึกวันสถาปนามกุฎราชกุมาร”  วันแรกจำหน่ายคือ 28 ธันวาคม 2515 ซึ่งมีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ  ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฎว่า

“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒฯ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

โดยเป็นพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ อยู่ภายในวงกลม  ผู้ออกแบบคือ น.ส.ผ่องศรี ศาลยาชีวิน และ น.ส.วันเพ็ญ บำรุงราษฎร์ จัดพิมพ์ทั้งหมด 3 ล้านดวง ในชนิดราคา 2 บาท พิมพ์ ณ สำนักพิมพ์รัฐบาล กระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น

ชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันแรกจำหน่าย 5 ธันวาคม 2530

แสตมป์ชุดนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ  มีการจัดสร้างแสตมป์ทั้งหมด 6 แบบ ผู้ออกแบบคือ นายประวัติ พิพิธปิยะปกรณ์ จัดพิมพ์แบบละ 3 ล้านดวง โดยสำนักพิมพ์ โซซิเอเต้ นูแวล การ์ตอร์ ซาร์ล ประเทศฝรั่งเศส

ลำดับต่อมาคือ ชุดมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันแรกจำหน่าย 10 กันยายน 2542

จัดทำขึ้นในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

ออกแบบโดย นายทวีพร ทองคำใบ ชนิดราคา 12 บาท จัดพิมพ์ 1 ล้านดวง ณ  บริษัท เฮลิโอคูร์วัวซิเอร์ เอส. เอ. ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ลำดับที่ 5 คือ ชุดที่ระลึกเนื่องในวโรกาสคล้ายวันสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันแรกจำหน่าย 28 ธันวาคม 2542

ผู้ออกแบบคือ นายธเนศ พลไชยวงศ์ โดยใช้พระบรมรูปเมื่อครั้งพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เมื่อ 28 ธันวาคม 2515 พร้อมด้วยตราพระนามาภิไธยย่อ ม.ว.ก. จัดพิมพ์ในชนิดราคา 3 บาท จำนวน 5 แสนดวง พิมพ์โดยบริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด (ประเทศไทย)

ถัดมาคือ  ชุดที่ระลึกวันราชาภิเษกสมรสครบ 50 ปี วันแรกจำหน่าย 28 เมษายน 2543

จัดทำขึ้น ในวโรกาสครบรอบ 50 ปีราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

ผู้ออกแบบคือ นายทวีพร ทองคำใบ จัดพิมพ์ในชนิดราคา 10 บาท จำนวน 7 แสนดวง โดย บริษัท เฮลิโอคูร์วัวซิเอร์ เอส. เอ. ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ชุดที่ระลึกฉลองวันพระราชสมภพครบ 4 รอบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันแรกจำหน่าย 28 กรกฎาคม 2543

จัดทำขึ้นในวโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพ ครบ 4 รอบ โดยใช้พระรูปเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในฉลองพระองค์ เครื่องแบบทหารประกอบภาพพระราชกรณียกิจ ทรงหว่านข้าวที่จังหวัดสุพรรณบุรีพร้อมตราพระนามาภิไธยย่อ ม.ว.ก.

ออกแบบโดย นายธเนศ พลไชยวงศ์ ชนิดราคา 2 บาท จัดพิมพ์ 1 ล้านชุด พิมพ์โดย บริษัท ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน)

ลำดับที่ 8 คือ ชุดที่ระลึก 50 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันแรกจำหน่าย 28 กรกฎาคม  2545

ผู้ออกแบบคือนายจรรยา บุญญาศักดิ์ ชนิดราคา 3 บาท จัดพิมพ์ 1.5 ล้านดวง พิมพ์โดยบริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (ประเทศไทย)

ถัดมาคือ ชุดที่ระลึก 60 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันแรกจำหน่าย 28 กรกฎาคม  2555

ชนิดราคา 9 บาท พิมพ์ 7 แสนดวง ผู้ออกแบบคือ นายธเนศ พลไชยวงศ์ พิมพ์ ณ บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด

ลำดับที่ 10 คือ ชุด 64 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร วันแรกจำหน่าย 28 กรกฎาคม 2559

มี 3 แบบในชุดคือ  พระฉายาลักษณ์เมื่อครั้งทรงจักรยานในกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ “ปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad” ในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ในวโรกาส “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” เฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558

พระฉายาลักษณ์ขณะทรงจักรยานในกิจกรรม Bike for Mom “ปั่นเพื่อแม่” เมื่อ 16 สิงหาคม 2558 เฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พร้อมด้วย 2ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ซึ่งได้รับพระราชทานภาพต้นแบบมาจัดพิมพ์แสตมป์  ทั้ง 3 แบบ ชนิดราคา 5  บาท จัดพิมพ์แบบละ 3 แสนดวง ผู้ออกแบบคือ น.ส.มยุรี นาคนิศร พิมพ์ ณ บริษัท ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด

ขณะที่ตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดแรกแห่งรัชกาล 10 คือ ชุด 65 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  วันแรกจำหน่าย 28 กรกฎาคม 2560

เป็นภาพพระฉายาลักษณ์พระราชทานในฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ประกอบอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. พร้อมข้อความบรรยาย บนพื้นภาพสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เพิ่มเทคนิคปั้มฟอยล์ทองบริเวณคำบรรยาย ชื่อชุด ชนิดราคา และประเทศไทย

ชนิดราคา 10 บาท ผู้ออกแบบคือ นายอุดร นิยมธรรม จัดพิมพ์ 1 ล้านดวง ณ บริษัท ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด

ถัดมาคือ ชุด 66 พรรษาฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันแรกจำหน่าย  28 กรกฎาคม 2561

พระฉายาลักษณ์ในฉลองพระองค์เครื่องแบบนายทหารซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย และทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก พื้นหลังเป็นลวดลายไทยสีเหลืองทอง

ชนิดราคา 10 บาท ออกแบบโดยนายธเนศ พลไชยวงศ์  จัดพิมพ์ 1 ล้านดวง ณ บริษัท ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด

 

ตราไปรษณียากรพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันแรกจำหน่าย 28 กรกฎาคม 2561

ถือแสตมป์เป็นเพื่อการใช้งาน “แสตมป์พระฉายาลักษณ์” ชุดแรกแห่งรัชกาลปัจจุบัน ผู้ออกแบบคือ นายธเนศ พลไชยวงศ์

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชานุญาตให้นำพระฉายาลักษณ์ครึ่งพระองค์ ทรงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ มาเป็นแบบประกอบลวดลายไทย และคำว่า “ประเทศไทย THAILAND” พร้อมตัวเลขบอกชนิดราคาเลขไทยและเลขอารบิก มีด้วยกัน 12 ชนิดราคา ได้แก่ ราคา 1 บาท 2 บาท 3 บาท 5 บาท 6 บาท 7 บาท 9 บาท 10 บาท 12 บาท 15 บาท 50 บาท และ 100 บาท พิมพ์ ณ บริษัท ไทยบริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด

และชุดล่าสุดคือ ตราไปรษณียากรที่ระลึก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันแรกจำหน่าย 4 พฤษภาคม 2562

โดยเชิญพระฉายาลักษณ์พระราชทาน ในฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารบกเต็มยศ ประกอบอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และภาพพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับเมื่อครั้งการจัดสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2493

ผู้ออกแบบคือ นายธเนศ พลไชยวงศ์  ชนิดราคา 10 บาท จัดพิมพ์ 3 ล้านดวง โดยใช้กระดาษเคลือบฟอยล์เงินกระจกที่ประเทศอังกฤษก่อนส่ง มาพิมพ์ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยสำนักพิมพ์ Cartor Security Printing  เพิ่มความพิเศษด้วยการพิมพ์สีเหลืองทองและปั๊มดุนนูน 3 จุด  เพื่อให้มีมิติสวยงาม พร้อมพิมพ์ลายเส้นสีทองบริเวณพระปรางค์ เจดีย์

**ชื่อชุดทางการ ณ วันแรกจำหน่าย**