“หัวเว่ย” พระเอกหรือผู้ร้าย จาก Tech War สู่สงครามเย็น

แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะเลื่อนการบังคับใช้มาตรการห้ามบริษัทอเมริกันทำการค้ากับ “หัวเว่ย” ออกไปอีก 90 วัน ก็ยังเจอศึกหนักเหตุจากมีหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่ใช่สัญชาติอเมริกัน เรียงหน้ากันประกาศยุติการทำการค้ากับ “หัวเว่ย”

แต่ที่ “หัวเว่ย” น่าจะหนักใจสุด คือการประกาศยุติทำการค้าด้วยของ “เออาร์เอ็ม” (ARM) บริษัทผู้ออกแบบชิปอิเล็กทรอนิกส์ ในสหราชอาณาจักร เพราะ CPU architecture คือ หัวใจหลักที่สำคัญมาก และยากจะหาทดแทน

อะไรที่ทำให้ “หัวเว่ย” ถูกตีขนาบกะให้จนตรอก “สิทธิพล พรรณวิไล” developer และบล็อกเกอร์ด้านไอที nuuneoi.com ให้มุมมองอย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะกลัวจีนแซงด้านเทคโนโลยี แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือ “หัวเว่ย” ซึ่งมีรัฐบาลจีนหนุนหลัง ได้หาทางแซงหน้าสหรัฐ โดย “ไม่เลือกวิธีการ” ที่ใช้มานาน คือ “ละเมิดทรัพย์สินทางปัญหาและขโมยมาเลย”

ในช่วงที่ “หัวเว่ย” เติบโตก้าวกระโดด มีผลงานออกมามากมาย แต่มีหลายอย่างที่ “ถูกขโมยมาขาย” ซึ่งหากประเมินแล้ว สหรัฐอเมริกาเสียหายถึงราวปีละ 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ และแม้ว่าบริษัทของประเทศอื่นจะมีปัญหานี้ แต่ไม่มีวิธีการน่าเกลียดเหมือนที่หัวเว่ยทำและต้องไม่ลืมว่า จีนก็กีดกันเทคโนโลยีจากสหรัฐ อย่าง Google Facebook ไม่ให้เข้าไปทำธุรกิจในจีนหมือนกัน

แต่ก่อนนี้ “หัวเว่ย” ยังไม่ได้โดดเด่น จึงไม่ได้มีมาตรการอะไร แต่เวลานี้หัวเว่ยกำลังเปลี่ยนจากผู้ขโมยเป็นผู้สร้าง โดยมีพระเอกหลัก คือ “5G” ที่หัวเว่ยมีส่วนเป็นอย่างมากในการ สร้างมาตรฐาน และ 5G ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็น infrastructure ระดับประเทศ หากใครถือครองตรงนี้ไป ก็คือถือครองข้อมูลระดับประเทศได้เลย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่หัวเว่ยถูกจับจ้องหนักขึ้น แม้การกีดกัน “หัวเว่ย” จะทำให้เจ็บหนักทั้ง “จีน-สหรัฐ” แต่หากมองในมุมสหรัฐต้องยอมรับว่า “คือสิ่งจำเป็น” และในระยะยาวสหรัฐ จะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะถึงจีนจะเริ่มนำไปแล้ว แต่เทคโนโลยีส่วนใหญ่มาจากการต่อยอดของประเทศอื่น

ส่วนการหยิบ “Hongmeng” ระบบปฏิบัติการที่ซุ่มพัฒนาอยู่มาแก้ปัญหา ไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้น และไม่ได้รับประกันว่าจะสำเร็จ เพราะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 30 ระบบ แต่มีอยู่รอดแค่ 2 เพราะ ecosystem แม้ iOS จะโตมาได้เพราะ iPhone ตัวแรกที่มาพลิกโลก smartphone ส่วน Google Android ได้ Samsung Galaxy S มาช่วยพลิกสถานการณ์ได้ทันเวลา แต่การมี “ecosystem” ซึ่ง iOS พัฒนา app store ให้คนไปซื้อแอปพลิเคชั่นไว้ได้ Google Android มี play store สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้คนไม่กล้าเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่น กลายเป็น “มูลค่าอย่างแท้จริงของ Mobile OS” และไม่ได้สร้างง่าย ๆ แบรนด์เกาหลีอย่าง Samsung หรือ LG ก็พยายามทำ OS ของตัวเองออกมา แต่ก็ไม่รอด เพราะสุดท้ายก็ต้องพึ่งพา Google ecosystem ในการทำการตลาดอยู่ดี

จริงอยู่ ที่ประเทศจีนมีประชากรมาก แต่การจะตีตลาดระดับ global ด้วย “Hongmeng” ไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นแค่ทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งอาจจะดีไม่พอด้วยซ้ำไป “ศึกนี้ไม่อยากให้มองว่า มันเป็นแค่ศึกของตลาดมือถือ แต่ภาพมันใหญ่กว่านั้นมาก มากจนมองเป็นสงคราม (เย็น) สเกลใหญ่”