ดีอีเร่งปรับ TOR “ดิจิทัลพาร์ค” พร้อมโชว์ผลงาน “แคท” ซับมารีนเคเบิลเตรียมปั้นไทยสู่ดิจิทัลฮับอาเซียน

ดีอีเร่งปรับ TOR “ดิจิทัลพาร์ค” เฟสแรก 4 พันล้านบาท หวังลงนาม PPP ทันสิ้นปี พร้อมโชว์ผลงาน “แคท” ขยายเคเบิลใต้น้ำเฟสใหม่รองรับเป้าหมายดิจิทัลฮับอาเซียน ฟาก “แคท” พร้อมลดค่าเชื่อมเกตย์เวย์ต่างประเทศ

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2562 กระทรวงดีอีและ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้เปิดให้เอกชนผู้สนใจเพื่อร่วมลงทุนในโครงการ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล Digital Park Thailand ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเงื่อนไขเกณฑ์การเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (public private partnership) อีกครั้ง

หลังจากได้เปิดขายซองข้อเสนอเมื่อ 25 ม.ค. 2562 ถึง 15 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีเอกชน 16 ราย ซื้อซอง แต่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมาไม่มีผู้ยื่นซองข้อเสนอ

“มีเอกชนให้ความเห็นมาว่า เงื่อนไขที่กำหนดไว้เข้มงวดเกินไป จึงได้เปิดรับฟังความเห็นอีกครั้งเพื่อนำไปปรับปรุง โดยคาดว่าจะประกาศให้ยื่นข้อเสนอได้อีกครั้งได้ราวต้นเดือน ก.ค. และคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมได้ในราวเดือน ส.ค. ก่อนจะลงนามในสัญญาได้ไม่เกินสิ้นปี มูลค่าโครงการในเฟสแรกราว 4,000 ล้านบาท”

 

ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) กล่าวว่า โครงการดิจิทัลพาร์ค ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ EEC ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า1.7 ล้านล้านบาท โดยดิจิทัลพาร์คเชื่อมกับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด เช่น สนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก

โดยแคทจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ส่วนเอกชนมีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสมาร์ทซิตี้ และหาผู้เช่าที่ธุรกิจสอดคล้องกับดิจิทัล

ส่วนกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินในโครงการเบื้องต้นมี 2 รูปแบบ 1.BTO (build transfer and operate) คือ ทันทีที่สร้างเสร็จต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐ และรัฐจะให้สิทธิ์บริหารต่อ 2.BOT (build operate transfer) คือ ทรัพย์สินอื่นนอกจากโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ตึกหรืออาคารต่าง ๆ จะให้กรรมสิทธิ์เอกชนไปก่อนจนกว่าจะครบสัญญาที่เบื้องต้นวางไว้ 30 ปี หรือ 50 ปี แล้วโอนคืนรัฐ ส่วนโมเดลรายได้มีทั้งทำสัญญา revenue frontline กับตั้งบริษัทร่วมทุน

ขณะที่เอกชนที่เข้าร่วมลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นสูงสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งในกรอบส่งเสริมทั่วไป และประเภทกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวต่อว่า นอกจากโครงการดิจิทัลพาร์คแล้ว ยังเร่งผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ที่แคทเป็นผู้ดำเนินการ

โดยในส่วนของการขยายความจุโครงข่ายภายในประเทศเชื่อมโยงไปยังชายแดน เพื่อเชื่อมต่อประเทศกัมพูชา ลาว และ เมียนมา กำลังอยู่ระหว่างติดตั้งอุปกรณ์ใน 151 สถานีทั่วประเทศ

ส่วนการขยายความจุระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่มีอยู่ในเส้นทางสิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง) และสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วสามารถรองรับปริมาณทราฟิกทั้งประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่การลงทุนก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เพื่อเชื่อมโยงประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ล่าสุด ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะมีการลงนามในเอกสารข้อตกลงระหว่างภาคีสมาชิกภายใน ก.ค. นี้ ก่อนเริ่มก่อสร้างและส่งมอบสิทธิการใช้งานให้กระทรวงดีอีภายในปี 2564

ด้านกรรมการผู้จัดการใหญ่ แคท กล่าวเสริมว่า  หลังจากโครงข่ายขยายประสิทธิภาพเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศครบถ้วนแล้วจะทำให้ระบบมีศักยภาพรองรับการเติบโตของทราฟฟิกในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% ต่อปี และทำให้แคทสามารถลดราคาค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศลงได้อีก