“ทวิช” ยืนหนึ่งในใจเกมเมอร์ ได้มาเพราะ “รัก” ไม่ใช่โชค

เวลานี้ “เกมเมอร์” กลายเป็นตลาดที่ดึงดูดสารพัดแบรนด์ทั่วโลก ไม่เว้นแม้ในประเทศไทย ล่าสุด “Twitch” (ทวิช) แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่งยอดฮิต รุกตลาดไทยจริงจัง ด้วยการตั้งผู้อำนวยการ ด้านคอนเทนต์ ทวิช ประจำประเทศไทย “จิรัฐติกาล สุทธิวรรณารัตน์” ให้เข้ามาดูแลตลาดนี้โดยเฉพาะ ตลาดไทยเหนียวแน่นมาก

“นานดู มัธวา” ผู้จัดการระดับภูมิภาค ทวิช ดูแลภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ไต้หวัน และอินเดีย Twitch ยืนยันว่า “ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่บริษัทให้ความสำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ เหตุเพราะตลาดอีสปอร์ตเติบโตมากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท มีผู้เล่นกว่า 18 ล้านคน

“สตรีมเมอร์ยังเติบโตจากช่วง 5 ปีก่อน ที่มีเพียงไม่กี่สิบคน เป็นแตะหลักหมื่นคนแล้ว ทั้งคาดว่ายังเติบโตได้อีกมาก ทั้งจากจำนวนประชากร พฤติกรรมที่คุ้นชินกับเกมมากขึ้น ที่สำคัญแฟน ๆ สตรีมเมอร์ยังมีความเหนียวแน่นมาก ยากจะเปลี่ยนใจเลิกติดตาม”

ไม่ใช่แค่ “เกม” แต่ต้อง “รัก” 

“ตอนนี้ใคร ๆ ก็พูดถึงอีสปอร์ต และอยากทำไลฟ์สตรีมมิ่ง การมีผู้เล่นในตลาดเยอะก็ยิ่งช่วยพัฒนาตลาด แต่จะสำเร็จไม่ใช่แค่เทคโนโลยี สิ่งที่ยากคือ ทำให้คนรักแพลตฟอร์ม Twitch จึงไม่กลัว เพราะทำตลาดมาตั้งแต่ 9 ปีก่อน มีสตรีมทั้ง game และ nongame ยังอยู่กันด้วยความรัก เป็นชุมชนที่แท้จริง และเทคโนโลยีของเราคนก๊อบปี้ไม่สำเร็จ”

ความท้าทายสำคัญคือ การขยายฐานทั้งสตรีมเมอร์และผู้ชม กว่าครึ่งของคอนเทนต์ใน Twitch คือเกม แต่ก็อยากผลักดันคอนเทนต์อื่นเพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกเพิ่ม ซึ่งในไทยคอนเทนต์ที่มาแรงคือ “ท่องเที่ยว-ทอล์กโชว์” จึงวางแผนจะผลักดันส่วนนี้ให้มากขึ้น เร็ว ๆ นี้ คงได้เห็นชัดเจน

“ระยะเวลาในการดูอาจจะไม่มีตัวเลขชัดเจน เพราะเวลาของคอนเทนต์แต่ละตอนสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่ในไทยช่วงเวลาที่เป็นไพรมไทม์คือ 17.00-23.00 น. และด้วยกลุ่มผู้ใช้กว่า 75% เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 16-35 ปี สตรีมเมอร์ส่วนใหญ่เรียนจบปริญญาตรี”

และบริษัทมีแผนเปิด Twitch Camp สำหรับคนที่มีประสบการณ์บนสตรีม ขยายฐานคนดูและ Twitch Academy ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น คณะอีสปอร์ตและมัลติมีเดีย เพื่อให้ความรู้

อีสปอร์ตสร้างอาชีพได้จริง

อีสปอร์ตในไทยยังโตได้อีกมาก เพราะภาพลักษณ์ของเกมดีขึ้น ภาครัฐก็สนับสนุน มีการจัดตั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ผู้ปกครองก็เข้าใจมากขึ้น ขณะที่อีสปอร์ตสามารถสร้างอาชีพได้หลากหลายมาก ทั้งนักกีฬา, นักพากย์, สตรีมเมอร์, สปอนเซอร์, ดีเวลอปเปอร์ โดย “เกมโมบาย” คือส่วนที่ผลักดันให้เติบโตมากที่สุด เพราะเข้าถึงง่าย

“สตรีมเมอร์สามารถหารายได้ผ่าน Twitch ได้ 3 ช่องทาง คือ 1.ผู้ชมกดติดตาม ราคาเริ่มต้น 150-780 บาท 2.AD และ 3.bits ส่งอีโมติคอน ราคาเริ่มต้น 50 บาท โดยสตรีมเมอร์สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ 4-6 หลัก แต่เราก็ไม่อยากให้เด็กมาหมกมุ่นในการหารายได้ จนสตรีมทั้งวันทั้งคืน ตอนนี้การสตรีมนานไม่ใช่จุดสำเร็จ อย่างถ้ามีโฆษณามาเบรกก็จะช่วยให้ได้เงินด้วย แต่สำคัญคือ ผู้ปกครองควรมีข้อตกลงเรื่องการจัดสรรเวลา”

ยอดใช้ทั่วโลกกว่า 1 ล้านคน/วัน

ขณะที่ภาพรวม Twitch ทั่วโลกเติบโตทั้งในแง่ยอดรับชม จำนวนสตรีมเมอร์ รวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ ที่อยากเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย โดยจำนวนสตรีมเมอร์ต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคน เป็น 3 ล้านคน และยังมีสตรีมเมอร์ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นสมาชิกระดับ affiliate (สตรีม 8 ชั่วโมง/เดือน) กว่า 248,000 คน และระดับ partner (สตรีม 25 ชั่วโมง/เดือน) อีก 7,800 คน

“สตรีมเมอร์เกือบ 5 แสนคนยังไลฟ์สดทุกวัน ส่งผลให้มียอดผู้เข้าใช้งานบน Twitch เฉลี่ยกว่า 1 ล้านคนในแต่ละวัน รวมเวลารับชมตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงปัจจุบันถึง 434 พันล้านนาที นอกจากนี้สตรีมเมอร์บนทวิชสามารถสร้างรายได้จากช่องของตนเองพุ่งสูงขึ้นถึง 86% จากปีก่อนหน้า”