5 ปีบนเก้าอี้ซีอีโอ ‘เอไอเอส’ ปรับสปีดองค์กรตอบโจทย์ ‘เทคโนโลยี-คน’

ต.ค.นี้ “เอไอเอส” จะเป็นองค์กรที่มีอายุ 30 ปี มีซีอีโอมาแล้ว 5 คน “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” เป็นคนที่ 5 และ ก.ค.นี้ นั่งในตำแหน่งนี้ครบ 5 ปี แม้อายุงานในบริษัทจะใกล้เคียงอายุองค์กร

แต่เขาเป็นซีอีโอคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งโดยกระบวนการคัดสรร หลังการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นจากตระกูล “ชินวัตร” เป็นกองทุนเทมาเส็ก และสิงเทล

“สมชัย” บอกว่า ผู้ถือหุ้นมองเห็นอนาคตจาก “ดิจิทัลดิสรัปชั่น” ตั้งแต่ 5 ปีก่อน จึงอยากได้ “ผู้นำ” ที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปกติแล้วยากที่ “คนใน” จะทำได้ แต่เขาก็ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้ พร้อมกับความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนองค์กร จาก “โมบายโอเปอเรเตอร์” ไปสู่ “ดิจิทัลเซอร์วิสโพรไวเดอร์”

5 ปีที่ผ่านมา มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง และ next step ของเอไอเอส “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุย ดังนี้

Q : 5 ปีในตำแหน่งซีอีโอ 

ตั้งแต่วันแรก ผมบอกทุกคนว่า เราจะมุ่งไปสู่การเป็น “ดิจิทัลเซอร์วิสโพรไวเดอร์” โดยเปลี่ยน 2 อย่าง อย่างแรก คือ โปรดักต์และเซอร์วิส ต้องมีฟิกซ์บรอดแบนด์ และบริการดิจิทัลต่าง ๆ

ถัดมา คือ “คน” ยังไงก็ต้องเปลี่ยน

วันแรกที่พูด ทุกคนงง เพราะเราเป็นบริษัทที่แข็งแรงมาก สิ่งสำคัญที่ทำให้เราเป็นเบอร์หนึ่ง คือ “คน” ของเราแข็งแรง ไม่ใช่เทคโนโลยีหรือเงินทอง

5 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรไปเยอะมาก แต่ยังได้แค่ 50% จากที่ตั้งใจไว้ เพราะ1.เสียเวลา 2 ปีแรก ในเรื่อง regulationการเลื่อนประมูลคลื่น 4 จี ขยายคลื่น 1800 พอประมูลคลื่น 900 1800 ก็เกิดในราคาแพงมาก เสียเวลาไปแก้ไข รวมแล้วใช้เวลาไปเกือบ 2 ปี

ถัดมาที่เสียเวลาไปมาก คือต้องยอมรับว่า เรายังติดอยู่ใน “ซักเซสชั่นแทร็ก” พอสมควร องค์กรเรายังประสบความสำเร็จมาก เวลาจะเปลี่ยนจึงไม่ง่าย ทำให้การเปลี่ยนแปลงล่าช้าไปมาก

Q : 50% ที่ทำได้คืออะไรบ้าง

ส่วนแรก คือ สินค้าและบริการ มีฟิกซ์บรอดแบนด์ เอไอเอสไฟเบอร์ที่ได้รับการยอมรับ สิ้นปีนี้น่าจะมีฐานลูกค้าถึงล้านราย ส่วน “ดิจิทัลเซอร์วิส” ก็มี เช่น วิดีโอ จากเดิมไม่เคยมีคอนเทนต์ ก็มีฮุค, วิว, เน็ตฟลิกซ์, เอชบีโอ แต่คิดว่ายังทำได้ดีกว่านี้ได้อีก มีโมบายมันนี่ “แรบบิทไลน์เพย์” และขยายไปบุกตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์ ซื้อซีเอสล็อกซ์

ทั้งหมดเป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคต

ในส่วนของธุรกิจมือถือ เราทำได้ดีแข็งแรงมาก แม้คู่แข่งจะแข็งแรงขึ้น แต่ลูกค้ายังอยู่กับเรา แม้การแข่งขันรุนแรงมาก มีการซับซิไดซ์แฮนด์เซต ตลอด 3-5 ปีที่ผ่านมา แต่เรายังเมนเทนกำไรได้ระดับ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ฉะนั้นเรื่อง “โมบาย” ไม่น่าห่วง แต่จะไม่ค่อยโตเยอะ

ในระยะสั้นจึงยังโฟกัสคอร์บิสซิเนส คือ โมบายให้เข้มแข็งแบบเดิม

ระยะกลาง จะมี 2 new growth engine คือ รายได้จากฟิกซ์บรอดแบนด์ และรายได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กร (เอ็นเตอร์ไพรส์) เราโชคดี เพราะเป็นรายใหม่ในตลาด ฉะนั้น ทุกอันที่ทำจะเป็นรายได้ที่จะเพิ่มเติมเข้ามา

ระยะยาว สิ่งที่วางรากฐานไว้ เช่น การสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มของคนไทย ดึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามา เช่น วิดีโอ, โมบายมันนี่, อีสปอร์ต ที่จะสร้างการเติบโตให้เรา และอุตสาหกรรมต่าง ๆในอนาคต แต่ยังไม่คาดการณ์รายได้ เพราะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย ที่จีนโมบายมันนี่บูมมาก แต่ในบ้านเราไม่ขนาดนั้น ยอดการใช้งานเพิ่มขึ้นมาก แต่ขึ้นจากการโอนเงิน ยังไม่ใช่เรื่องซื้อของ แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

Q : ระยะยาวอยู่ที่พฤติกรรมผู้บริโภค

เราวางรากฐานไว้ แต่อีกสิ่งที่เป็นความภูมิใจ ในโอกาสครบ 5 ปี เอไอเอสได้รางวัลแบรนด์อันดับหนึ่งของโลก จากแบรนด์ ไฟแนนซ์ ของอังกฤษ เขาไม่ได้วัดแค่มาร์เก็ตติ้ง แต่มองถึงเรื่องการลงทุน และผลตอบแทนต่าง ๆ ว่าคุ้มค่าไหมเราอยู่ในอันดับต้น ๆ มาตลอดหลายปี แต่ปี 2018 ได้อันดับหนึ่ง

Q : ในมุมผู้บริโภคได้คะแนนเท่าไร

ผู้บริโภควันนี้ยังรักเรา จากในอดีตแบรนด์เพอร์เซฟชั่นดาต้าเป็นรองคู่แข่ง แต่วันนี้กลับมาและแซงแล้ว ต้องยอมรับว่าความแตกต่างของสิ่งที่เราแข็งแรงในอดีต คู่แข่งใกล้ขึ้นมามาก ลอยัลตี้ในเด็กรุ่นใหม่อาจไม่แตกต่างมากนัก แต่ลูกค้ากลุ่มเก่ายังรักเราอย่างเหนียวแน่น

เป็นความท้าทายที่ต้องทำ คือ สร้างแบรนด์เอ็นเกจเมนต์กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ได้

ในแง่ส่วนแบ่งตลาด เอไอเอสยังเป็นที่ 1 ส่วนแบ่งตลาด 48% ถือว่ายากมากสำหรับการมีคู่แข่งที่แข็งแรงขึ้น แต่ยังโพซิชั่นตรงนี้ไว้ได้ ด้วยแบรนด์อิมเมจที่ดึงกลับมาได้ และคุณภาพบริการที่คู่แข่งยังสู้ไม่ได้

Q : Next Step ถัดไป

“คน” จะเป็นก้าวต่อไป จากเดิมเป็นองค์กรใหญ่ มีคน 1.2 หมื่นคน แข็งแรงมาก ทุกคนอยู่กันรักกันแบบครอบครัว ไม่เคยมีผู้บริหารจากข้างนอกมานั่งแล้วอยู่ได้ในระดับสูงเกิน 10 คน เพราะวัฒนธรรมองค์กรเราแข็งแรง แต่ยุคผมเข้ามาเกินสิบคน และยังอยู่ได้ เพราะเปลี่ยนวัฒนธรรมไปพอสมควร

Q : เปลี่ยนได้ยังไง

พยายามลดเลเวลในการทำงาน ตัดชั้นต่าง ๆ ให้สั้นลง เพื่อทำให้การทำงานเร็วขึ้น แม้กระทั่งการโปรโมตคนเดิมดูจาก “เวลา” แต่ตอนนี้จะพิจารณาจากศักยภาพในการทำงาน เพราะถ้ายังใช้วิธีโปรโมตแบบเดิม คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถอาจจะไม่อยู่กับเราในระยะยาว

การโปรโมตแบบนี้เป็นการส่งสัญญาณให้คนรุ่นใหม่ว่า ถ้าคุณมีความสามารถ คุณมีโอกาส คนเดิมเราก็อธิบายว่าทำไมต้องทำ เขาก็ยอมรับได้ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนเอไอเอสเป็นคนดี คุยกันแบบดี ๆ ก็เข้าใจ

Q : สปีดการทำงานดีขึ้นจะตอบโจทย์ลูกค้าดีขึ้น

ใช่ ถ้าเราไม่ลดขั้น สปีดในการทำงานจะช้า อีกอย่างที่สำคัญ คือ ผมเชื่อว่าเด็กจะทนไม่ได้ เด็กรุ่นใหม่ไม่เหมือนรุ่นเรา ที่รอได้ 20-30 ปี รุ่นใหม่จะคิดว่า ถ้าเขาเก่งจริง 5 ปีต้องได้ขึ้น

คอนเซ็ปต์ผม คือ ไม่ทำลายเรือเก่า เอไอเอสเป็นเรือเก่าที่แข็งแรง ก็ให้เรือเก่าทำธุรกิจหลัก และปรับแก้กลไกการทำงานให้คล่องตัวขึ้น แยกทำงานเป็น 2-3 ทีม มีทีม data analytics มีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำ อีกทีมคือ cyber secuerity ที่ต่อไปจะทำไปขายคนข้างนอกด้วย อีกส่วนที่แยกออกมา คือ “อินโนเวชั่น” ที่เราใช้คำว่า “เดอะเน็กซ์” ทีมนี้มีคน 200 คน จะทำอะไรใหม่ ๆ

และสร้างเรือเล็กขึ้นมา โดยจัดโครงสร้างใหม่ วันที่ 1 ส.ค.นี้ จะมีผู้บริหารใหม่เป็นต่างชาติมาดู new business โดยเฉพาะ ดูเรื่องวิดีโอ, เกม,บริการอินชัวรันซ์ต่าง ๆ ตั้งเป็นดีพาร์ตเมนต์ใหม่ขึ้น เหมือนที่ตั้ง คุณศรัณย์ (ผโลประการ) เป็นเอ็มดี ดูฟิกซ์บรอดแบนด์

นี่คือสเตจที่สอง

เราอยากทำธุรกิจแบบยั่งยืน ต้องทำ 3 แกน แกนแรก ด้านเศรษฐกิจ คือ เรื่องรายได้ อีกสองแกน คือ ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างการตระหนักรู้ในการใช้สื่อดิจิทัล, ด้านการศึกษา Academy for Thai ขยายความรู้ไปสู่สังคม, เรื่องสาธารณสุขมีแอป อสม., เรื่องเกษตรกรรม มีแอปฟาร์มสุข เป็นต้น

สเตจที่ 3 ที่จะทำ คือ เรื่อง “คน” เป็นสิ่งที่ตั้งใจมากที่จะทำ และในฐานะซีอีโอ ก่อนที่จะเกษียณในอีก 3 ปี อยากทำ 2 อย่าง

อย่างแรก คือ สร้างอีโคซิสเต็มโมเดลให้เกิดให้ได้ เพราะเราอยากโตไปพร้อมกับพาร์ตเนอร์ ไม่ได้อยากโตคนเดียว เราจะเป็นพี่ใหญ่ในการช่วยอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้โตไปด้วยกัน

เรื่องที่สอง คือ สร้างคนรุ่นใหม่ให้เกิดในเอไอเอสให้ได้ วันนี้โครงสร้างองค์กรที่ออกมาใหม่ จะเห็นว่าผมดันเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาหลายส่วน รุ่นพี่จะขยับขึ้นไปเป็นที่ปรึกษา

อยากสร้างฟาวน์เดชั่นให้เด็กรุ่นใหม่ โดยวันที่ 24 ก.ค.จะประกาศให้ชัดว่า ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มดาวรุ่ง คอนเซ็ปต์คล้าย ๆ ว่าเราจะเป็นบริษัท “ฟอร์ ออล เจเนอเรชั่น”

ผมเชื่อว่าธุรกิจในอนาคต แพ้ชนะกันจะอยู่ที่ “คน”การเตรียมคนสำหรับรับช่วงรันองค์กรในอนาคตจึงเป็นทั้งความตั้งใจและความท้าทาย

Q : สถานการณ์การแข่งขัน

เราผ่านช่วงที่ต่อสู้แบบรุนแรงมาเยอะ เบอร์ 3 อยากเป็นเบอร์ 2 ก็ลุยเต็มที่ ถ้าไม่อยากขยับมาเป็นเบอร์ 1 การแข่งขันก็จะกลับเข้ามาสู่ความสมเหตุสมผล เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค ที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันเพื่อเอาชนะ

Q : ภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจ

สินค้าบริการของเราพิเศษ คือ มีความจำเป็น โทรคมนาคมจะโตตามจีดีพี หรือเหนือกว่า 1-2% ถ้าเศรษฐกิจดี โทรคมนาคมจะดีตาม ไม่เหมือนอุตสาหกรรมอื่น ปีนี้ก็ยังประเมินว่าจะโต 3-3.5%

Q : คนไทยจะได้สัมผัส 5G เมื่อไร

ถ้าคอมเมอร์เชียลจริง ๆ น่าจะปี 2021 อย่างเร็ว เพราะวันนี้มือถือยังไม่มีเลย เมื่อได้คลื่นมาก็ต้องลงทุนเน็ตเวิร์ก ถ้ามีแค่ลูกค้าหมื่นรายจะทำทำไม ต้องรอยูสเคส และอีโคซิสเต็ม เรื่องไอโอที, ไบโอติก จะเกิดขึ้นได้จริง ต้องมีของ

มีคนบอกว่า 5G เป็นจุดเปลี่ยนของโลก ถ้าเห็นยูสเคสจริง ๆ จะบอกได้