นีลเส็น-MRDA ลุ้น “กสทช.” เคาะเงินอุดหนุนวัดเรตติ้ง

กสทช.เตรียมเคาะเงินประเดิมอุดหนุนระบบเรตติ้ทีวีดิจิทัลใหม่ ฟากสมาคมทีวีดิจิทัล-เอเยนซี่ หนุน MRDA หวังปลดแอก “นีลเส็น” ฟาก “นีลเส็น” ยังมั่นใจศักยภาพเร็วสุด-ดีสุด ขณะที่ “ประวิทย์” อ่อยของบฯอุดหนุนเพิ่มจาก กสทช.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ภายใน ต.ค.นี้จะสรุปแนวทางสนับสนุนการทำระบบสำรวจความนิยมรายการทีวี ตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 ได้ โดยเตรียมจัดประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขการชดเชยตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 เพื่ออนุมัติวงเงินที่จะสนับสนุน

“ณ เวลานี้ยังไม่ได้สรุปว่า จะเลือกสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (MRDA) เป็นผู้ทำระบบเรตติ้ง และยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้วงเงินเท่าไร แต่จะไม่เกิน 430 ล้านบาท หลักการคือ กสทช.มอบเงินประเดิมให้สมาคมผู้ประกอบการ เพื่อไปตัดสินใจเลือกว่าจะใช้ระบบของใคร แต่ทุกการเบิกจ่าย กสทช.จะต้องเป็นคนอนุมัติ และติดตามการใช้จ่ายเงิน โดยหวังว่าระบบใหม่จะเริ่มใช้งานได้ใน 3-4 เดือน แต่ถ้าไม่ทันทางสมาคมจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างความน่าเชื่อของระบบด้วย”

ด้านนายสินธุ์ เภตรารัตน์ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หาก กสทช.จะสนับสนุนงบประมาณจัดทำระบบเรตติ้งที่ 430 ล้านบาท เบื้องต้นประเมินว่าจะเพียงพออุดหนุนได้ 5 ปี ซึ่งสมาชิกทั้งผู้ประกอบการทีวีและมีเดียเอเยนซี่จะได้ประโยชน์จากการจ่ายค่าบริการในอัตราที่น้อยลง

“นีลเส็นมั่นใจว่าจะได้งานนี้แน่นอน เพราะมีประสบการณ์ในการให้บริการนาน ซึ่งถ้าเลือกใช้ระบบของเราก็จะพร้อมใช้งานได้เร็วสุด ประหยัดสุด และน่าเชื่อถือสุด ซึ่งตอนนี้ประเมินว่ายังไม่มีรายอื่นที่มีศักยภาพเทียบเท่า ทั้งหากจะลงทุนใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ส่วนปัญหาที่ผู้ประกอบการกังวลเรื่องความน่าเชื่อถือในกลุ่มตัวอย่างและระบบสำรวจของนีลเส็น ทางบริษัทยินดีให้มีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบได้ แต่คงไม่จ้างเอง เพราะจะยิ่งทำให้ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งโดยปกติแล้วการตรวจสอบให้ครบทั้งระบบจะใช้งบประมาณราว 4 ล้านบาท ใช้เวลาราว 6 เดือน”

พร้อมย้ำว่า ยิ่งการเข้าถึงคอนเทนต์ของผู้บริโภคทำได้หลากหลายขึ้น การมีระบบวัดเรตติ้งที่แม่นยำยิ่งจำเป็นเพื่อให้แต่ละแบรนด์เห็นได้ชัดว่า กลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ไหน และตัดการนับซ้ำของ eyeballs (จำนวนคนที่มองเห็น)

ขณะที่นายประวิทย์ มาลีนนท์ อดีตผู้บริหารช่อง 3 กล่าวว่า ในฐานะที่อยู่ในวงการมานาน การคัดเลือกระบบเรตติ้งควรเป็นหน้าที่ของคนที่ใช้ตัวเลขมากที่สุด คือ มีเดียเอเยนซี่ เพื่อให้ได้รายละเอียดที่ต้องการจริง ๆ ทั้งยังระบุว่า อุตสาหกรรมมีเดียขณะนี้เปลี่ยนไปมาก ผู้ประกอบการช่องทีวีได้รายได้จากการโฆษณาเหลือแค่ 1 ใน 3 จากเดิม ฉะนั้นการแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านเรตติ้งก็ควรจะเปลี่ยน

“ก่อนประมูลทีวีดิจิทัลทุกช่องเข้าใจว่า กสทช.จะเป็นคนดูแลการจัดทำเรตติ้ง ตอนนี้ทุกคนหมดสภาพแล้ว เพราะช่องหนึ่งต้องจ่ายค่าเรตติ้ง 8 ล้านต่อปี เมื่อประเมินจาก 15 ช่องที่เหลืออยู่คร่าว ๆ ก็ต้องใช้ปีละ 120 ล้านบาท ถ้า กสทช.จะรับภาระตรงนี้ไปได้เลยไหม เงินไม่ได้มาก เงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 700 MHz ก็ยังเหลือ และ กสทช.คุ้มแน่นอน เพราะข้อมูลส่วนนี้ กสทช.ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้ แม้แต่ในแง่ความมั่นคง”

แหล่งข่าวในวงการมีเดียเอเยนซี่เปิดเผยว่า ทางสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลน่าจะเลือกใช้ระบบของ MRDA เพราะเป็นการปลดแอกระบบเดิมของนีลเส็นที่ใช้มากว่า 30 ปี ซึ่งถูกมองว่าค่อนข้างกดขี่ และมีข้อกังขาเรื่องจำนวนตัวอย่างในการสำรวจว่าสามารถสะท้อนความนิยมที่แท้จริงได้แค่ไหน ขณะที่ทาง MRDA ชูแนวคิดไม่แสวงหากำไร และทุกคนเป็นเจ้าของข้อมูล

“แนวคิดของ MRDA จึงแก้จุดบอดที่เกิดในอุตสาหกรรมมาเกือบ 30 ปี ที่นีลเส็นให้ข้อมูลจำกัด คิดค่าบริการแพงและขึ้นราคาทุกปี หากจะขอข้อมูลอะไรเพิ่มก็คิดเงินหมด และที่สำคัญ คือ MRDA ประกาศว่าสามารถเข้าตรวจสอบได้ตลอดเวลา ต่างจากรายเดิมที่การตรวจสอบล่าสุดคือเมื่อ 10 กว่าปีก่อน”