กสทช.หย่าศึก “ท่อร้อยสาย” ห้าม “เคที” ผูกขาด-เปิดต้นทุน

“กสทช.” ห้ามศึกท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ระบุ ห้ามผูกขาดสั่งทบทวนเงื่อนไข และส่งข้อมูลต้นทุนค่าเช่าให้พิจารณาก่อน ด้าน “เคที” ยันโปร่งใสทุกขั้นตอน เปิดทางทุกรายใช้งานได้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ได้แจ้งให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ส่งรายละเอียดโครงการท่อร้อยสายโทรคมนาคมใต้ดิน รวมถึงต้นทุนเพื่อกำหนดค่าบริการมาให้พิจารณา หลังมีผู้ประกอบการร้องเรียนเรื่องการผูกขาด

เนื่องจากตามประกาศ กสทช.เรื่องแนวทางปฏิบัติในการใช้ การลงทุน และการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน หรือโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการโทรคมนาคม ได้ระบุไม่ให้มีการผูกขาดหรือกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้าใช้บริการ

“เคทีจะต้องประกอบกิจการเอง โอเปอเรเตอร์ทุกรายสามารถเช่าท่อได้กับเคทีโดยตรงเท่านั้น ห้ามไม่ให้มีการเหมาเพื่อไปให้บริการต่อกับรายอื่น”

ขณะที่โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในถนนสายหลักและถนนสายรอง ตามมติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ 2,400 กิโลเมตร ผ่านบริษัทลูกอย่างเคที และโอเปอเรเตอร์ต้องมาเช่าใช้จากเคที

“โอเปอเรเตอร์จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน กสทช. จึงจะหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะมีมาตรการใดเพื่อไม่ให้เกิดการผลักภาระให้ผู้ใช้บริการ”

ด้านนายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กล่าวว่า เคทีเป็นผู้บริหารโครงข่ายท่อร้อยสายเอง ไม่ได้มีการผูกขาดหรือให้สัมปทานกับรายใดรายหนึ่ง

“การเปิดให้แจ้งเจตจำนงการใช้ เพื่อดูว่ามีความต้องการใช้งานและเป็นการยืนยันว่ามีผู้ใช้งานแน่นอน เพื่อหาเงินทุน แต่มีแค่บริษัทเดียวที่ยื่นมา ซึ่งยังไม่ได้มีการวางเงินหรือทำสัญญาใด ๆ จากนี้จะส่งหนังสือไปถึงโอเปอเรเตอร์อีกครั้งเพื่อสำรวจความต้องการใช้ และส่งข้อมูลต้นทุนให้ กสทช. ภายใน ส.ค.นี้”

พร้อมยืนยันว่า ยังเดินหน้าโครงการโดยใช้ 3 บริษัทเดิมที่ชนะประมูลการวางโครงข่าย ภายใต้กรอบการลงทุนเดิมราว 27,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างได้ภายในปีนี้