8 เดือนคดีไซเบอร์แซงปี61″ปอท.”เฟ้นหาไวต์แฮกเกอร์

ภัยไซเบอร์โตไวตามสปีดเน็ต เปิดสถิติ ปอท. 8 เดือน มูลค่าความเสียหายทะลุ 371 ล้าน จาก 2,870 คดี แซงหน้ายอดทั้งปี 2561 เฉพาะภัยจากแฮกเกอร์ 633 คดี “ปอท.” กองปราบฯจับมือ “เอ็มเฟค” สร้างเครือข่าย “ไวต์แฮกเกอร์”

พลตำรวจตรีไพบูลย์ น้อยหุ่น ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เปิดเผยว่า สถิติผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ บก.ปอท.ในปี 2562 ณ 30 ส.ค. 2562 มี 2,870 คดี มูลค่าความเสียหาย 371,096,744 บาท ขณะที่ทั้งปี 2561 มียอดอยู่ที่ 2,718 คดี มูลค่าความเสียหาย 527,309,998 บาท

โดยยอดแจ้งความมากที่สุด คือ การกระทำผิดด้วยการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม รองลงไปคือการกระทำผิดโดยมีระบบเป็นเครื่องมือ อาทิ หลอกโอนเงินทางอีเมล์หรือโทรศัพท์ romance scam (ใช้ความรักมาล่อลวงเอาทรัพย์สิน) หลอกขายสินค้า-บริการ ตามด้วย การกระทำผิดโดยมีระบบเป็นเป้าหมาย อาทิ แฮกระบบเพื่อปรับเปลี่ยน/ขโมย/ทำลายข้อมูล หรือแฮกเพื่อหลอกโอนเงิน

ล่าสุด บก.ปอท.ได้จับกุม 2 นักศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ที่แฮกเข้าระบบของร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง เพื่อลักลอบนำโค้ดส่วนลดออกไปขายในโซเชียลมีเดีย และทำให้เว็บไซต์ล่ม จนทำให้สูญเสียรายได้นับล้านบาท

“ร้านไม่ได้อัพเดตระบบทำให้เกิดช่องโหว่ ซึ่งในโซเชียลมีเดียจะมีกลุ่มลับที่คอยเข้าไปทดลองแฮก”

การป้องกันตนเองเบื้องต้นขององค์กรและผู้ใช้งานทั่วไป คือ อย่าตั้งรหัสผ่านในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ง่ายต่อการคาดเดา อาทิ วันเดือนปีเกิดหรือเบอร์โทร.เรียงกัน 3 รอบ หมั่นเปลี่ยนรหัสผ่าน รวมถึงหมั่นอัพเดตซอฟต์แวร์และระบบรักษาความปลอดภัยให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และหากมีอีเมล์สอบถามข้อมูลส่วนบุคคลโดยอ้างหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องสอบถามในช่องทางสื่อสารทางการก่อนเสมอ

รวมถึงการใช้งานโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ควรตั้งระบบยืนยันตัวบุคคลแบบ 2 ชั้น (two-factor authentication) โดยเข้าที่ “การตั้งค่า” และเลือก “การรักษาความปลอดภัย” แล้วกดเลือก “ระบบยืนยันตัวตนแบบ 2 ชั้น”

“คดีเกี่ยวกับแฮกระบบมีจำนวนไม่มาก แต่มีมูลค่าความเสียหายเยอะ บางคดีเป็น 10 ล้านบาท แต่มีส่วนน้อยที่มาแจ้งความ เพราะเกรงจะส่งผลกระทบในด้านอื่น ขณะเดียวกัน จากแนวโน้มของจำนวนคดีจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ”

โดยในส่วนของ บก.ปอท.ได้ร่วมมือกับกองปราบปราม (บก.ป.) และ บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี หรือเอ็มเฟค บริษัทให้บริการคำปรึกษา พัฒนา วางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายไอซีที จัดแข่งขันแก้ปัญหาแบบทดสอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ “TCSD Cyber Security Competition” และการประชุมความปลอดภัยไซเบอร์ หรือ TCSD Cyber Security Conference 2019

ด้านพลตำรวจตรีจิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการปราบปราม (บก.ป.) เปิดเผยว่า การทำงานของตำรวจในปัจจุบัน จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายร่วมกับประชาชน อาทิ เครือข่ายไวต์แฮกเกอร์จะช่วยงานป้องกันและปราบปราม

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็มเฟค กล่าวว่า อาชญากรรมไซเบอร์เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา จำเป็นต้องมีการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน ซึ่งการแข่งขันนี้จะกระตุ้นให้เกิดความเรียนรู้และสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องทั้งภาครัฐและเอกชน