“Peloton” ยกคลาส ปั่นจักรยานมาไว้ที่บ้าน

www.onepeloton.com

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน

จำได้มั้ยคะ 7-8 ปีก่อน คลาสสอนขี่จักรยานในสตูดิโอที่เปิดเพลงดังกระหึ่ม มีครูฝึกหน้าตาดีขี่นำพลางตะโกนปลุกเร้าให้สาวกฮึกเหิมตั้งหน้าตั้งตาปั่นกันหูตาเหลือกนั้นฟีเวอร์ไปทั่วโลก

ตอนนั้น “จอห์น โฟย์ลี” หนุ่มวัย 40 ก็อยากเข้าคลาสเหมือนกัน แต่จนใจที่งานรัดตัว จึงปรึกษากับ “ทอม คอทเทส” คู่หูว่า จะทำยังไงถึงจะจำลองบรรยากาศของคลาสจักรยานมาไว้ที่บ้านได้ ในที่สุดก็ผุดไอเดียผลิตจักรยานออกกำลังที่มาพร้อมหน้าจอทัชสกรีน ที่โหลดคลิปหรือดูไลฟ์สดคลาสสอนเหมือนอยู่ในสตูดิโอ

นั่นคือที่มาของ Peloton สตาร์ตอัพฟิตเนสที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ด้วยค่าตัวกว่า 4 พันล้านเหรียญ

“จอห์นและผู้ก่อตั้ง 4 คน” ตั้ง Peloton ในปี 2012 ระดมทุนสร้างจักรยานต้นแบบและเปิดให้จองใน Kickstarter ในปีถัดมา ก่อนเข้าตลาดแมสพร้อมเปิดร้านจริงจัง ในปี 2014 ถึงวันนี้ มีหน้าร้านแล้ว 70 แห่งทั้งในอเมริกา แคนาดา และอังกฤษ ระดมทุนได้ 994 ล้านเหรียญ มีลูกค้าที่ซื้อจักรยานและสมัครบริการรายเดือนรวมกันกว่า 1 ล้านราย และปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ราว 1 พันล้านเหรียญ

“ทอม” 1 ในผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่ง COO บอกว่า ความสำเร็จมาจากการยึดเอาประสบการณ์ของลูกค้าเป็นตัวตั้งต้นในการออกแบบสินค้าและบริการทุกขั้นตอนประสบการณ์ที่ดีกลายเป็นความประทับใจและบอกต่อ เริ่มจากหมู่เซเลบก่อนลามในวงกว้าง จนเกิดเป็นชุมชน Peloton ที่เหนียวแน่น ส่งผลให้ครองส่วนแบ่งตลาดฟิตเนสถึง 7.3%

ทั้งยังไม่จำกัดตนเองว่าเป็นแค่บริษัทขายอุปกรณ์ฟิตเนส แต่ทำตัวเหมือน Amazon แห่งวงการฟิตเนส ที่ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผลิตฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ คอนเทนต์ (ภาพระดับ HD แบบมืออาชีพ แถมดนตรีขั้นเทพ) จนถึงการส่งมอบสินค้าและบริการหลังการขายอย่างมืออาชีพ

ปัจจุบันปั้นครูฝึกระดับแม่เหล็กขึ้นมา 26 คน แต่ละคนมีแฟนคลับหลักแสน โดยครูฝึกจะมาทั้งแบบเป็นคลาสไลฟ์สด และคลิปดาวน์โหลด

ความสนุกของไลฟ์สด คือ ได้เห็นครูฝึกขวัญใจปั่นจักรยานประกอบเพลงอย่างเมามัน แถมยังแข่งกับผู้เล่นรายอื่นแบบสด ๆ ด้วยว่าใครทำคะแนนได้ดีกว่า แต่ละวันจึงมีการไลฟ์ถึง20 คลาส ส่วนใครไม่มีเวลาตามดูไลฟ์ ก็มีคลิปให้โหลดเป็นหมื่นคลิป

การแบ่งปันเทคนิค และการให้กำลังใจกันของเหล่าสมาชิกบนหน้าเพจ Peloton หรือตาม IG ของครูฝึกยังเป็นอีกเสน่ห์ ที่ทำให้คนติดกันงอมแงม

แต่ข้อโจมตีหลักคือ “ราคา” เหตุเพราะจักรยานคันหนึ่งของ Peloton สูงถึง 2,200 เหรียญ ยังไม่รวมค่าบริการอีกเดือนละ 39 เหรียญ แพงเกินกว่าคนอเมริกันหลายล้านคนจะเอื้อมจนเกิดเสียงค่อนแคะว่า Peloton สร้างมาเพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนรวย

บริษัทแก้ปัญหาด้วยการออกโปรฯให้ผ่อนนาน 39 เดือน รวมถึงเปิดให้สมัครรายเดือนแบบเฉพาะโหลดคลิปได้ ยิ่งในช่วงที่บริษัทกำลังเตรียมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งถูกโจมตี

ล่าสุดสินค้าใหม่เป็นเครื่องวิ่งไฮเทคราคาแพงหูฉี่ 3,995 เหรียญ พร้อมชิมลางเจาะตลาด hospitality โดยจับมือกับ Marriott”s Westin Hotels & Resorts กว่า 20 แห่งในสหรัฐ

ทั้งหมดนี้ ผู้ก่อตั้งอย่างทอมบอกว่าเป็นแค่ “จุดเริ่มต้น” ก็รอดูกันยาว ๆ ว่า Peloton จะเดินไปได้ไกลแค่ไหนบนเส้นทางฟิตเนสสายนี้