Digital Tax ของมาเลเซียในต้นปีหน้า

(Photo by Indranil Aditya/NurPhoto via Getty Images)

คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมมีโอกาสเดินทางไปมาเลเซียเพื่อร่วมงานประชุมของ Lazada ซึ่งเชิญบรรดาผู้ประกอบการเกือบ 2,000 รายเข้าร่วมงาน ดูเหมือนผมจะเป็นตัวแทนบริษัทจากไทยบริษัทเดียวที่ได้ไปร่วมงานนี้

ผมได้ไปพูดคุยถึงว่าผู้ประกอบการมาเลเซียจะนำสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทยได้อย่างไร พร้อมกับพาผู้ประกอบการไทยบางรายให้นำสินค้าเข้าไปแสดงและดูลู่ทางหากต้องการที่จะไปขายออนไลน์ที่โน่นด้วย

การไปครั้งนี้ได้อัพเดตหลายอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์อีคอมเมิร์ซในมาเลเซีย ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ digital tax หรือการเก็บภาษีดิจิทัล ซึ่งเมื่อมองกันจริง ๆ แล้วมีหลายมุมมาก

เช่น การขายของผ่านอีคอมเมิร์ซ จำนวนเงินเข้าบัญชีเกิน 400 ครั้งอย่างที่ผมเคยนำเสนอกันไปแล้วก็ใช่

มาเลเซียกำลังจะเริ่มนำ digital tax มาใช้ เพราะเห็นว่าผู้ให้บริการด้านดิจิทัลยักษ์ใหญ่ เช่น Google, Facebook, Spotify, Netflix ฯลฯ ทั้งหลายรวมถึงบริการต่าง ๆ ที่มีการจ่ายเงินออกไปนอกประเทศผ่านออนไลน์ ไม่เคยเสียภาษีให้แก่ประเทศ รัฐเองไม่มีรายได้กลับเข้ามาเลย

ทางการมาเลเซียจึงแจ้งว่ามกราคมปีหน้า รัฐบาลมาเลเซียจะขอให้บรรดาผู้ให้บริการด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Amazon, Netflix ฯลฯ บวกค่าบริการเพิ่มขึ้นอีก 6%

สำหรับทุกบริการที่คนมาเลเซียใช้ นั่นก็คือภาษีที่ผู้ให้บริการเหล่านี้จะต้องเป็นคนเก็บเพิ่มให้ และให้ผู้ให้บริการเหล่านี้นำ 6% ที่เก็บเพิ่มนี้นำจ่ายกลับมาให้กับรัฐบาลมาเลเซีย นี่ถือเป็นภาษีดิจิทัลของมาเลเซียที่มีรูปแบบคล้ายกับภาษี VAT ของไทย

เมื่อมาเลเซียทำตรงนี้ ผมว่าภาระอย่างแรกตกอยู่ที่ประชาชนผู้ใช้บริการ เพราะต้องจ่าย 6% เพิ่มเข้าไป ทางการมาเลเซียคาดว่าน่าจะเก็บเงินภาษีได้สูงถึง 2.4 พันล้านริงกิต หรือ 1.73 หมื่นล้านบาท หากไทยจะนำมาใช้บ้างอาจมีปัญหาตรงที่ไม่เคยมีข้อมูลมาก่อนว่าคนไทยใช้เงินกับการดูหนังฟังเพลง หรือทำอะไรต่าง ๆ ผ่านออนไลน์ แล้วจ่ายเงินออกไปนอกประเทศเป็นเท่าไหร่กันแน่

มุมกลับกัน สิ่งที่เริ่มเห็นชัดเมื่อมาเลเซียทำสิ่งนี้คือ ทางการจะรู้เลยว่ามูลค่าที่แท้จริงที่คนมาเลเซียจ่ายเงินออกไปนอกประเทศ คือจำนวนเงินเท่าไร หากบรรดาผู้ให้บริการดิจิทัลยอมเก็บ 6% กลับไปให้รัฐบาลมาเลเซียนะครับ จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นเศรษฐกิจดิจิทัลที่แท้จริงมีขนาดไหน ตัวเลขตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่ามาเลเซียเองมีอยู่แล้วหรือไม่

ผมเข้าใจว่าตอนนี้กรมสรรพากรของไทยก็กำลังหาวิธีที่จะทำให้บริษัทที่ทำออนไลน์และอยู่นอกประเทศ หากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องมีภาระในการเก็บภาษี VAT 7% ผมมองว่าเป็นอารมณ์เดียวกับของมาเลเซีย แต่ของไทยผมไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

กรณีมาเลเซีย สิ่งที่ผมยังสงสัยคือ บรรดาผู้ให้บริการออนไลน์จะมาขึ้นทะเบียนกับมาเลเซียหรือไม่ ถ้าไม่ไปขึ้นทะเบียน รัฐบาลจะมีมาตรการจัดการอย่างไร ในแง่กฎหมายผม ไม่แน่ใจว่าจะไปจัดการกับเขาได้หรือไม่

ผมแอบลุ้นอยู่ว่ามกราคมปีหน้า มาเลเซียจะมีบริษัทด้านดิจิทัลเข้ามาในระบบกี่ราย เมื่อมาเลเซียทำแล้วก็อยากฝากทางกรมสรรพากรให้ดูเป็นตัวอย่างว่าเขาทำได้มากน้อยแค่ไหน

ยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลควรต้องจ่ายภาษี เราควรมีมาตรการอะไรบางอย่างที่เชิญชวนให้เขามาร่วมอย่างน้อยคือเราควรได้อะไรบางอย่างกลับมาบ้าง เพราะเงินออกไปข้างนอกหมดโดยที่เราไม่รู้เลย ในขณะที่คนไทยเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเกือบ 50 ล้านคนแล้วและจะใช้หนักขึ้นเรื่อย ๆ บริการต่าง ๆ

รอบตัวจะเข้าสู่อินเทอร์เน็ตมากขึ้น เม็ดเงินที่เราใช้จ่ายต่อไปจะเริ่มออกไปข้างนอกมากขึ้นเรื่อย ๆ

ฉะนั้น หากเราไม่มีมาตรการอะไรบางอย่างในวันนี้บอกได้เลยว่าในอนาคตเราอันตรายมากเลยทีเดียว

โดยส่วนตัวผมเชียร์กฎหมายตัวนี้เพราะจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน

เราทำบริษัทในไทยเราโดน 7% แต่บริษัทยักษ์ใหญ่จากเมืองนอกเข้ามาไม่เสียอะไรเลย และสูบเงินจากประเทศไทยออกไปอยู่ตลอดเวลา หากมีกฎหมายนี้ขึ้นมาจะทำให้เกิดความแฟร์มากขึ้น แต่ตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่าประชาชนต้องเป็นคนแบกรับภาระที่เพิ่มมากขึ้นอีก 7% นะครับ