VSCO โซเชียลทางเลือก เพื่อสุขภาพจิตที่ดี

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

หากใครอยากเล่นโซเชียลแบบไร้ความกดดัน ไม่ต้องแคร์ยอดไลก์ ไม่ต้องสนยอดฟอล ไม่ต้องเสียอารมณ์กับคอมเมนต์กาก ๆ เชิญมามุงตรงนี้ หลายคนอาจรู้จัก VSCO (อ่านว่า วิสโค) ในฐานะแอปแต่งรูป แต่มีไม่กี่คนรู้ว่า VSCO ยังเป็นโซเชียล

แพลตฟอร์มที่ ล้ำสมัยด้านคอนเทนต์สร้างสรรค์แล้ว (เน้นรูปถ่าย) ยังล้ำเรื่องการเคารพสิทธิส่วนบุคคล และ “สุขภาพจิต” ของผู้เล่นด้วย VSCO มากสุดก็แค่มีปุ่ม favorite ให้กดใต้รูป เพื่อแสดงความชื่นชมแบบ “เงียบ ๆ” ไม่มีใครรู้นอกจากคนกดกับเจ้าของรูป หรือหากชอบผลงานใครเป็นพิเศษก็กดติดตามได้แบบ “เงียบ ๆ” อีกเช่นกัน

จากการศึกษาของหลายสถาบันพบว่าการเล่นโซเชียลมีเดียส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้เล่น โดยพบว่าเด็กวัยรุ่นที่ติดโซเชียลมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ และมีความเครียดสูง เพราะคอยเปรียบเทียบ “ความนิยม” ของตนเองกับคนอื่นตลอดเวลา กลายเป็นที่ “แข่งสุข แข่งดี แข่งรวย” ไปอย่างน่าเสียดาย

“VSCO” ก่อตั้งโดยช่างภาพ “โจเอล ฟลอรี กับ เกรก ลัทซ์” อดีตครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ ในปี 2011 เริ่มจากการเป็นแอปเสริมในโปรแกรมแต่งรูปของ Adobe Lightroom และ Photoshop

ต่อมาในปี 2013 เมื่อกล้องสมาร์ทโฟนเริ่มมีคุณภาพมากขึ้น VSCO ถึงปล่อยแอปแต่งรูปสำหรับมือถือออกมา มาพร้อมฟังก์ชั่นแต่งรูปที่ใช้งานง่ายและฟิลเตอร์ที่ช่วยทำให้รูปดูมีสไตล์ขึ้นทันใด หากใครจ่ายเงินค่าสมาชิกปีละ 19.99 เหรียญ ยังได้ใช้ฟิลเตอร์สวยขั้นเทพ พร้อมฟังก์ชั่นแต่งรูปแบบครบสูตรด้วย แค่สัปดาห์แรกก็มีคนแห่มาดาวน์โหลดแอป VSCO ถึง 1 ล้านครั้ง และกลายเป็นแอปแต่งรูปยอดนิยมบน App Store นับแต่นั้น

ปัจจุบัน มี active users ราว 40 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกแบบจ่ายเงินเกือบ 4 ล้านคน มีรายได้รวมต่อปี 80 ล้านเหรียญ และเป็นสตาร์ตอัพที่มีมูลค่า 550 ล้านเหรียญ #VSCO เป็นแฮชแท็กที่มีคนใช้ถึง 450 ล้านครั้งบนไอจี (เป็นรองแค่ #art) และ 4 พันล้านครั้งบน Tiktok ที่ทำให้ VSCO เป็นที่รู้จักในวงกว้าง น่าจะมาจากเทรนด์ VSCO girls ที่มาแรงแซงทุกเทรนด์แฟชั่นในปีนี้ VSCO girls คือ สาวน้อย Gen Z ที่แต่งตัวเรียบง่าย แต่ทุกชิ้นล้วนเป็นแบรนด์เนมที่มีจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม VSCO เน้นการ tie in หรือความร่วมมือเฉพาะกิจแบบเนียน ๆ เช่น ตอนโรงแรม Marriot ติดต่อว่าอยากได้รูปสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ ในประเทศที่ทำธุรกิจอยู่ VSCO ทำตัวเป็น

แม่สื่อแนะนำสมาชิกที่เป็นช่างภาพในประเทศนั้น ๆ ให้โรงแรมติดต่อซื้อรูปหรือจ้างงานกันเอง หรือในหน้าโปรไฟล์ของ Marriot จะมี #travelbrilliantly ที่ให้ชาว VSCO แชร์รูปท่องเที่ยวกันสนุกสนาน ถือเป็นการสร้างแบรนด์ และ cus-tomer engagement กับกลุ่มเป้าหมายได้ค่อนข้างดี แน่นอนว่าในฐานะโซเชียลเน็ตเวิร์ก VSCO ยังห่างชั้นเฟซบุ๊ก และไอจี ในแง่ของจำนวนผู้ใช้ แต่หากพูดถึงความใส่ใจทั้งในแง่ความใส่ใจลูกค้า การรักษาข้อมูลและความโปร่งใส ต้องถือว่า VSCO ก้าวหน้ากว่ามาก

ตั้งแต่ก่อตั้งมา VSCO ระดมทุนได้ราว 90 ล้านเหรียญ (นายทุนมาเคาะประตูถึงบ้าน) และถึงแม้จะยังไม่มีกำไร แต่ “โจเอล” บอกว่าใกล้ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว และมีแผนพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ เช่น ฟีเจอร์ตัดต่อวิดีโอ และ illustration ในปีหน้า

สำหรับแบรนด์ที่อยากเจาะกลุ่มมิลเลนเนียล และ Gen Z การสร้างโปรไฟล์ (หรือ grid) บน VSCO น่าจะเป็นช่องทางใหม่ที่น่าสนใจเพราะการแข่งขันยังไม่สูงมาก แถมมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ส่วนคนทั่วไปที่ชอบถ่ายรูป หรือดูรูปสวย ๆ หรือแค่อยากได้โซเชียลแพลตฟอร์มที่ใช้แล้วรู้สึกปลอดภัยสบายใจ ก็น่าจะตอบโจทย์ และเป็นอีกทางเลือกที่ดี