Chefclub ทำอาหาร ให้เป็นเรื่อง “บันเทิง”

คอลัมน์ สตาร์ทอัพปัญหาทำเงิน

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

คลิปทำอาหารเดี๋ยวนี้มีเยอะมาก จะโดดเด่นในดงคอนเทนต์ที่ล้นทะลักได้

Chefclub คือ หนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ทำได้ ใช้เวลา 3 ปี สตาร์ตอัพจากฝรั่งเศสรายนี้มีผู้ติดตามกว่า 75 ล้านคนทั่วโลก และคลิปที่ผลิตแต่ละเดือนมียอดวิวรวมกันทุกแพลตฟอร์มกว่า 1 พันล้านวิว

Chefclub ต่างจากวิดีโอทำอาหารทั่วไปตรงสิ่งที่บริษัทเรียกว่า “entertainment” นำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นสะพานเชื่อมต่อ “ศิลปะการทำอาหาร” กับ “ความบันเทิง” ทุกเมนูต้องทำได้จริงและให้ความรู้สึกแปลกใหม่น่าลิ้มลอง บางเมนูแค่เห็นก็ต้องร้อง ว้าวว่า “คิดได้ยังไง” หรืออุทานออกมาดัง ๆ ว่า “เฮ้ย ! มันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ”

Chefclub ยังพิถีพิถันเรื่องเทคนิคการถ่ายทำ ทุกคลิปต้องมีลูกเล่น ทุกขั้นตอนตั้งแต่การหั่น การสับ การโรยพริกไทย การตอกไข่ ไปจนถึงการจัดจาน ดูเพลินเหมือนดูมายากล ดูไม่กี่คลิปต้องรู้สึกฮึกเหิมอยากเข้าครัวทำตามแน่นอน

นอกจากกระชับ ฉับไว (ความยาวไม่เกิน 90-120 วินาที) แล้ว เอกลักษณ์อีกอย่าง คือ การสอดแทรกกราฟิก ตัวการ์ตูน และเอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ เป็นระยะ จนเกือบเป็นแอนิเมชั่นย่อม ๆ ทำให้แม้แต่คนไม่ชอบทำกับข้าวก็ยังรื่นเริงบันเทิงใจกับการดูคลิป

หลายคนอาจคิดว่าผู้ก่อตั้ง Chefclub ต้องเป็นเชฟหรือคนในวงการอาหาร แต่ความจริงแล้วสตาร์ตอัพรายนี้ก่อตั้งโดย 3 หนุ่มพี่น้องตระกูล “แลง” นามว่า โจนาธาน โทมัส และ เอ็กเซล นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต้องดิ้นรนหารายได้ใหม่หลังธุรกิจโซเชียลเกมมิ่งต้องปิดกิจการลงในช่วงคริสต์มาสปี 2015

ทั้ง 3 คนตัดสินใจว่าควรหันมาจับธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเพราะดูมีแนวโน้มที่ดี แต่จะให้พัฒนาซอฟต์แวร์ก็ไม่มีเงิน เลยคิดผลิต “คอนเทนต์” คลิปทำอาหารแล้วเอาลงสื่อโซเชียล

ต้นปีถัดมา “โจนาธาน” ลงมือถ่ายคลิปแรกเอง เขาเลือกเมนู “แซนด์วิชแฮมชีส” จากเว็บไซต์ทำอาหารของบราซิล เพราะดูทำไม่ยากแต่แหวกแนวตรงที่ไม่ได้ใช้แฮมเป็นไส้ แต่เอามาโปะจนรอบขนมปังแทน เมื่อทอดกับเนยจนเป็นสีน้ำตาลเกรียมสวยแล้วก็เอามาหั่นครึ่งโชว์ไส้ชีสที่ไหลเยิ้ม

อัพขึ้น “เฟซบุ๊ก” แป๊บเดียวมียอดวิว 30,000 ทำให้หนุ่ม ๆ ใจชื้นรีบปล่อยคลิปตัวที่ 2 ตามมา ยอดวิวทะลุ 2 ล้าน

ภายใน 3 ปีทีมงานขยายจาก 3 คนพี่น้อง เป็น 50 คน ช่องทางหลักในการเผยแพร่ยังเป็น “เฟซบุ๊ก” ตามด้วย YouTube Snapchat IG และ Tiktok ปัจจุบันมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้าน

เมื่อสร้างแบรนด์เป็นที่รู้จักแล้ว ก็ถึงเวลา “หาเงิน” ถึงได้ส่วนแบ่งรายได้จากยอดวิวบน YouTube และเงินจากการ tie in โฆษณาสินค้า แต่รายได้หลักมาจากการเอาคอนเทนต์ออนไลน์มาต่อยอดเป็นสินค้าออฟไลน์ เช่น รวมเมนูเด็ดมาผลิตหนังสือวางขายผ่านเว็บ แต่ละเมนูจะมีบาร์โค้ดให้สแกนไว้ดูคลิป พิมพ์มาได้ไม่เท่าไรก็มียอดขายทะลุ 5 แสนเล่ม

ล่าสุดออกคู่มือทำอาหารสำหรับเด็ก มี 20 เมนู เน้นผักเป็นหลัก มาพร้อมบาร์โค้ดให้สแกนดูคลิป ที่เพิ่มเติมคือ ชุดช้อนและถ้วยตวงหลายขนาดหลากสีสันใช้การ์ตูนรูปสัตว์เป็นสัญลักษณ์แทนตัวเลขบอกปริมาณ เช่น ถ้วยตวง 1/2 ถ้วยเป็นรูปแมว ในสูตรอาหารปรับการบอกปริมาณจากตัวเลขเป็นการใช้การ์ตูนทำให้เด็ก ๆ สนุกกับการทำอาหาร

ในอนาคตจะผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ตนเองมากขึ้น ทั้งอุปกรณ์ทำครัวและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อเป็น one stop shop สำหรับทุกเรื่องด้านอาหารต่อไป