“ทุน” ยังทรงอิทธิพล 8 ปี กสทช. เสียง “ผู้บริโภค” ดังไม่พอ

สัมภาษณ์

ย้อนไป 8 ปีก่อน ภารกิจแรก ๆ ของ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คือการประมูล 3G มาวันนี้คลื่น 5G กำลังจะถูกนำมาประมูล แต่ในสายตาของ กสทช.เสียงข้างน้อย (ในบอร์ด) ตลอดกาลอย่าง “ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สิทธิของผู้บริโภคไทยแทบไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Q : 5G มาผู้บริโภคจะได้อะไร

ตอนนี้เซอร์วิสใหม่ ๆ ที่จะมาถึงก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ในแง่ของสิทธิผู้บริโภคที่จะรับการคุ้มครองมากขึ้นหรือไม่ คงเหมือน ๆ เดิม ในเงื่อนไขใบอนุญาตไม่ได้มีการระบุหน้าที่อะไรเพิ่มพิเศษเกี่ยวกับผู้บริโภค ที่ผมเสนอให้เพิ่มเงื่อนไขด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะต้องมีมาตรการพิเศษในการดูแล เพราะ 5G เป็นเรื่องของดาต้า เรื่องของ IOT แต่บอร์ดก็ไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้

Q : โมบายดาต้าก็ถูกร้องเรียนเยอะ

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคุณภาพไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ ใช้แล้วไม่เสถียรหรือไม่เร็วเท่าที่ประกาศไว้ ถ้ามีร้องเรียนมา ทางสำนักงาน กสทช.จะเข้าไปตรวจ แต่ตรวจแล้วส่วนใหญ่ก็ผ่านมาตรฐาน เพราะมาตรฐานที่ตั้งไว้ไม่ได้สูงอะไรมาก ถ้าไม่ผ่านก็แจ้งให้บริษัทไปปรับปรุงใน 90 วัน

ปัญหาคือ กสทช.เชื่อว่า กลไกตลาดจะควบคุมให้ทุกอย่างเข้าที่ได้ จึงไม่ได้ลงไปกำกับอะไรมาก ผลมันก็เป็นอย่างที่เห็น

Q : กลไกตลาดทำงานได้เองจริง ๆ

ถ้าเรื่องราคาของบริการโมบายดาต้าแบบพรีเพด อันนี้กลไกตลาดทำได้จริง เห็นได้จากทุกค่ายมีขายซิมเทพ ซิมเทอร์โบนั่นนี่ที่เป็นโปรฯถูกมากสำหรับการใช้เน็ตไม่อั้น ในราคาหลักร้อยกว่าบาทต่อเดือน แต่ผู้ใช้งานต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ซีเรียสกับเบอร์โทร. เรียกว่า หมดโปรฯก็โยนทิ้ง ในกลุ่มนี้ค่าบริการมีการแข่งขันกันจริงแต่ถ้าเป็นกลุ่มใช้บริการ voice หรือรายเดือน ผู้บริโภคก็ยังเสียเปรียบอยู่ เพราะค่ายมือถือมีอำนาจต่อรองสูงเรื่องเบอร์ที่ผู้บริโภคใช้งานอยู่ แต่ถ้าไม่ห่วงเรื่องเบอร์เมื่อไร อำนาจต่อรองผู้บริโภคสูงกว่า

Q : ย้ายค่ายเบอร์เดิมยังยากเย็น

ใช่ วันก่อนผมเชิญโอเปอเรเตอร์กับอนุกรรมการด้านผู้บริโภคมาคุย อย่างปัญหาที่ย้ายค่ายไม่ได้เพราะมีหนี้ค่าบริการ ทั้ง ๆ ที่เป็นเบอร์แบบเติมเงิน มันไม่ควรมีค้างชำระ ค่ายมือถือก็อ้างไปว่า มันมีระบบให้ยืมเงิน พอลูกค้ายังไม่ได้เติมเงินมาคืนก็เลยขึ้นว่าค้างชำระ แต่ในส่วนของลูกค้ารายเดือนที่ค้างชำระ ก็ยอมรับว่า เป็นหนี้ที่ยังไม่ได้ออกบิล ซึ่งมันไม่ตรงกับหลักการโอนย้ายของ กสทช. ที่จะดึงไว้ได้เฉพาะหนี้ที่ออกบิลแล้วเท่านั้น เขาก็อ้างว่า แนวทางของ กสทช.ไม่เหมาะสม เพราะถ้าลูกค้าย้ายค่ายแล้วไม่ยอมจ่ายเงินส่วนนี้ บริษัทก็ไม่คุ้มที่จะฟ้อง จึงต้องยื้อไว้

หรืออย่าง PIN ที่ต้องกดเวลาขอย้ายค่าย error ทางค่ายมือถือก็อ้างว่า เป็นความผิดพลาดในการกดรหัส ผมก็บอกไปว่า ถ้าจะให้แฟร์ก็ต้องไปแก้ระบบใหม่ เพื่อให้สามารถกดรหัสผิดได้ 2-3 ครั้ง ค่ายมือถือก็บอกว่าจะรับไปดูให้ แต่เชื่อว่าก็คงไม่แก้หรอก เพราะค่ายมือถือไม่ต้องการให้ลูกค้าย้ายเพราะการโอนย้ายลูกค้าทำให้ค่ายมือถือต้องกดราคาค่าบริการลง ไม่ว่าจะเป็นการออกโปรฯลับเพื่อดึงลูกค้าไว้ หรือต้องมีโปรฯย้ายค่ายเพื่อดึงลูกค้าของคู่แข่งมาอยู่ค่ายตัวเอง ซึ่งกระทบกระเทือนกับรายได้ จึงพยายามทำอุปสรรคให้เยอะไว้

Q : 8 ปี สิทธิผู้บริโภคไม่ดีขึ้น

ใช่ ขนาดแค่ SMS กินเงิน เป็นปัญหาโบร่ำโบราณ ที่ยังมีอยู่ก็ไม่ทำอะไรกัน ขนาดกรรมาธิการวุฒิสภามาตรวจงาน ก็พูดถึงเรื่องนี้ ก็ยังไม่ขยับ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันแก้ได้ง่าย ๆ ถ้าตั้งใจจะทำ เพราะกติกามีชัดเจนว่า การเก็บเงินค่าบริการโดยที่ผู้บริโภคไม่ได้สมัครใช้งานมันผิดกฎหมาย คุณก็นำเรื่องร้องเรียนนี้เข้าบอร์ดแล้วประกาศให้เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เหมือนที่กสทช.ทำกับโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมาย แล้วก็ออกประกาศเตือนทุกค่ายมือถือหยุดกระทำ ถ้าฝ่าฝืนก็สั่งปรับได้ ซึ่งฐานความผิดนี้ปรับได้เป็นล้านบาท แต่สิ่งที่สำนักงาน กสทช.ทำอยู่ตอนนี้คือ จะดึงเรื่องร้องเรียนไม่ให้เข้าบอร์ด แล้วไปบีบให้ค่ายมือถือคืนเงิน ซึ่งก็จะเท่ากับว่า ต้องร้องเรียนถึงจะได้เงินคืน ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอ

Q : SMS ร้องเรียนมากสุด

เป็นอันดับหนึ่ง 3 ปีซ้อน SMS กินเงิน อันดับ 2 คือ ปัญหาย้ายค่ายเบอร์เดิมที่ย้ายยากเย็น แต่ภาพรวมจำนวนตัวเลขร้องเรียนลดลง ซึ่งไม่รู้ว่าบริการมันดีขึ้นหรือว่าระบบร้องเรียนมันยากขึ้น

ทำให้สถิติมันน้อย แต่ในอีกทางคือ สำนักงาน กสทช.ก็พยายามปิดเรื่องร้องเรียนให้เร็วขึ้น โดยใช้ว่า ถ้ากรณีไหนบอร์ดเคยมีมติไปแล้วก็ให้เอาไปบังคับใช้กับกรณีที่คล้ายกันได้เลย แต่ก็ไม่ใช่กับทุกเคสนะ จะเลือกเอาเฉพาะที่เขาอยากให้ปิดเร็ว

อย่างเรื่องเสาส่งสัญญาณไม่มีใบอนุญาต ถ้ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามา สำนักงานก็จะสั่งปรับ แล้วก็ให้ใบอนุญาต ซึ่งมันไม่ถูกนะอาจจะต้องรอ กสทช.ชุดใหม่ ก็ขอให้เลือกคนดี ๆ มาเยอะหน่อย

Q : ภาพรวมดูหมดหวัง

ถ้าองค์กรกำกับดูแลยังเชื่อว่า ต้องปล่อยให้ตลาดกำกับดูแลกันเอง ก็จะมีปัญหาทั้งตลาดนั่นแหละ จนกว่าจะออกมาตรการมากำกับดูแล ซึ่งจะทำได้ต้องมีการนำปัญหามาวิเคราะห์ ที่ผมพยายามเรียกโอเปอเรเตอร์มาก็เพื่อจะคุยเรื่องนี้ เพื่อให้หาทางแก้ปัญหา แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด ซึ่งถ้าบอร์ดไม่เอาด้วย เรื่องก็ไม่ไปถึงไหน

Q : หนักใจสุดคือบอร์ดนี่แหละ

งานคุ้มครองผู้บริโภค ถ้าพูดแบบชาวบ้านคือ เรื่องของลูกเมียน้อย เป็นปัญหาที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าไร ทำให้ปัญหาเดิม ๆ ซึ่งน่าจะแก้ได้ตั้งแต่หลายปีก่อนยังคงอยู่

แล้วถ้าเทียบกับการกำกับของ กสทช. ฝั่งกระจายเสียงฯ จะเห็นชัดว่า ความจริงจังแตกต่างกัน อย่างเรื่องโฆษณาอาหารและยาผิดกฎหมายในสื่อดั้งเดิมอย่างทีวี วิทยุ ก็เห็นผลอยู่ เพราะมีค่าปรับสูง ฉะนั้นมันเห็นได้ชัดว่า อยู่ที่มาตรการที่บอร์ดจะลงไม้ลงมืออย่างไร

ปัญหาคือ ทุนยังมีอิทธิพลเยอะอยู่ จึงไม่สนใจผู้บริโภค