5G สมรภูมิพลิกเกม เอไอเอส-ทรู บี้ชิง “ผู้นำ”

ปิดฉากการประมูลคลื่น 5G ไปเมื่อ 16 ก.พ. 2563 แต่สมรภูมิการแข่งขันเพิ่งเริ่มต้นขึ้น โดยเฉพาะการช่วงชิงตำแหน่ง “ผู้นำ” ระหว่างเบอร์ 1 ด้านมาร์เก็ตแชร์อย่าง “เอไอเอส” และ “ทรู” ที่คว้าชัยการเป็นเบอร์ 1 ในการเปิดให้บริการ “3G/4G” รายแรกในไทยมาตลอด ครั้งนี้ก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็น “รายแรก” ที่จะเปิดให้บริการ 5G เช่นกัน

แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก เมื่อ “เอไอเอส” นอกจากจะปักธงจัดแถลงทิศทางสู่ 5G ของบริษัทก่อนหน้า “ทรู” แล้ว ยังตั้งใจจะเป็น “รายแรก” ที่ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 5G จาก “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้วยการเป็นบริษัทแรกที่นำเช็คจ่ายเงินค่าประมูลงวดแรกให้ กสทช. เมื่อ 21 ก.พ. 2563

ทั้งยังเริ่มปลุกกระแส 5G ทั้งผ่านสื่อดั้งเดิมและผ่านโซเชียลมีเดีย โดยใช้ “พลัง” ของทัพพรีเซ็นเตอร์ตัว top ของวงการ ไม่ว่าจะเป็น ลิซ่า Black Pink, แบมแบม GOT7

5G “AIS” เทียบชั้นเวิลด์คลาส

“ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า การประมูลคลื่น 5G ล่าสุดทำให้เอไอเอสมีครบทั้งย่านความถี่ต่ำ ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ ประกอบด้วยคลื่น 700 MHz (30 MHz), คลื่น 2600 MHz (100 MHz) และคลื่น 26 GHz (1200 MHz) ทำให้มีคลื่น 5G ทั้งหมด 1330 MHz เมื่อรวมกับคลื่นเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่งผลให้เป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นในการให้บริการ 4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวมเบ็ดเสร็จ 1420 MHz

“การมีคลื่น 5G มากที่สุดมีผลต่อการแข่งขันในตลาดแน่นอน เพราะความได้เปรียบเรื่องคลื่นจะทำให้คุณภาพบริการดีขึ้นกว่าเดิมด้วย แต่การแข่งขันวันนี้นอกจากคุณภาพดีกว่าแล้ว ยังเป็นการแข่งราคาอย่างเข้มข้นด้วย ซึ่งก็น่าจะยังคงมีอยู่ แต่จุดยืนของเราคือถ้าจะมี ลูกค้าต้องใช้งานได้ด้วย ไม่ใช่ให้เยอะ ๆ ลูกค้าใช้ไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ ในโลกของการพัฒนา 5G ยังใช้เวลาอีกสักระยะต่างจากสมัย 4G ตอนนั้นมีเครื่องรองรับการใช้งานในตลาดแล้ว 30-40% ขณะที่ 5G วันนี้ยังไม่มี มีซัมซุง s20 ที่เพิ่งเปิดตัว หรือ มี.ค.ก็จะมีอีก 3 รุ่น แต่เป็นรุ่นท็อป ๆ ทั้งหมด เชื่อว่าราคาเครื่องจะยังไหลลงไม่เร็วนัก”

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี 5G จะยกระดับอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศให้แข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาเอไอเอสได้ร่วมทดลองทดสอบกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคการผลิต, ขนส่ง, คมนาคม, สาธารณสุข, การศึกษา ฯลฯ จึงพร้อมนำ 5G เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เพื่อปฏิวัติการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ในส่วนผู้บริโภคก็จะร่วมกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระดับโลกทุกราย นำผลิตภัณฑ์คุณภาพเข้าสู่ตลาด ล่าสุดเริ่มเปิดสัญญาณ 5G เป็นรายแรก เพื่อทดลองทดสอบบนคลื่น 2600 MHz บนเครือข่ายจริงที่สยามพารากอน, เซ็นทรัลเวิลด์ และแยกอโศก รวมถึงในต่างจังหวัด ก่อนเปิดบริการจริงเร็ว ๆ นี้ด้วย

“จากคลื่นที่มีในมือจะทำให้เรามีขีดความสามารถที่จะส่งมอบบริการและโซลูชั่นที่ดีที่สุดเทียบเท่ามาตรฐานของผู้ให้บริการระดับโลก หรือ world”s best-in-class ได้ ไม่ว่าจะเป็นไชน่าโมบาย เอ็นทีทีโดโคโม ที่ต่างเตรียมแบนด์วิดท์อย่างน้อย 100 MHz ขึ้นไป จึงมั่นใจว่าเราจะสร้างประโยชน์สูงสุดให้ประเทศได้มากกว่าใครในอุตสาหกรรม รวมถึงคุณภาพการให้บริการ 4G ในปัจจุบันด้วย”

ไชน่าโมบายล์ช่วยเสริมแกร่ง

ด้าน “ทรู” ก็ไม่น้อยหน้า ด้วยการเปิดให้สัมผัสประสบการณ์ใช้งานจริงของเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G บนคลื่น 2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ทรูประมูลได้มา ณ ทรูช็อป ทรูสเฟียร์ 11 สาขา ได้แก่ สยามสแคร์ซอย 2-3 พารากอน ดิจิทัลเกตเวย์ เซ็นทรัลเวิลด์ ไอคอนสยาม เอ็มควอเทียร์ รวมถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกร สามยอด สนามไชย และอิสรภาพ

ทั้งยังชูจุดแข็งสำคัญ คือ การเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับ “ไชน่าโมบายล์”โอเปอเรเตอร์รายใหญ่ ซึ่งเปิดให้บริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz เป็นรายแรกของโลก

“สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์” หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการพาณิชย์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การที่ทรูเป็นพันธมิตรกับไชน่าโมบายล์ นั่นหมายถึงทรูจะมีความแข็งแรงทั้งในแง่ของอุปกรณ์โครงข่าย แฮนด์เซต และโซลูชั่นที่จะทำให้เกิด used case การใช้ประโยชน์จาก 5G ได้อย่างแท้จริง

“เกมการตลาดของ 5G ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่แข่งกันที่สปีด แพ็กเกจการลดแลกแจกแถม หรือแข่งกันในบรรดาโอเปอเรเตอร์เท่านั้น 5G จะเปลี่ยน landscape ของอุตสาหกรรม เพราะผู้ใช้บริการไม่ใช่คน แต่เป็นอุปกรณ์จำนวนมาก ซึ่งคลื่นในมือที่ทรูมีอยู่เพียงพอจะรองรับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ได้มหาศาลไปอีกนาน ทั้งการที่มีคลื่นมากกว่าแค่บล็อกเดียว ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างทั้งในแง่ของความครอบคลุมและสปีดในการให้บริการ สิ่งที่สำคัญคือการหาพาร์ตเนอร์เพื่อทำให้เกิด used case ที่จะใช้ประโยชน์จาก 5G ได้เต็มประสิทธิภาพ”

โดยทรูเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวที่มีคลื่นครบทั้ง 7 ย่านความถี่ โดยเฉพาะย่านความถี่ต่ำที่หลากหลายและมีแบนด์วิดท์มากที่สุด ทั้ง 700 MHz 850 MHz และ 900 MHz ย่านความถี่กลางทั้ง 1800 MHz 2100 MHz 2600 MHz และความถี่สูงอย่าง 26 GHz

ทั้งยังเปิดโครงการ “First 5G Citizen” ที่นอกจากจะมี 5 ฮีโร่คนต้นแบบที่สะท้อนบทบาทความอัจฉริยะของ 5G แล้ว ยังเปิดกว้างในการเข้ามาร่วมพัฒนาโซลูชั่นที่จะนำ 5G ไปใช้ประโยชน์ ทั้งจากลูกค้าและพาร์ตเนอร์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้สิทธิ์ในการใช้งาน 5G

และแน่นอนว่า กลุ่มทรูได้เตรียมเงินลงทุนโครงข่าย 5G ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะเป็นการอัพเกรดทั้ง 4G และ 5G ไปพร้อมกัน แม้จะไม่เปิดเผยตัวเลขเงินลงทุน แต่ยืนยันว่าไม่ต้องรอถึงไตรมาส 2 ก็จะได้เห็นบริการ 5G เชิงพาณิชย์แน่นอน