กทปส.กองทุนพันล้านทุ่มสู้โควิด ปูพรมแพทย์ทางไกล-ห้องความดันลบ

เป็นที่ฮือฮาตั้งแต่ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศจะเกลี่ยงบประมาณของสำนักงานและกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้ กสทช. ช่วยโรงพยาบาลและสถานพยาบาลภาครัฐต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท

แถมล่าสุดยังได้ขอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.และบอร์ดของกองทุน กทปส. เพิ่มวงเงินสนับสนุนอีก 251 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินค่าปรับทางปกครองที่สะสมไว้ในบัญชีกองทุนทั้งยังอุดหนุนค่าบริการอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนเพื่อสนับสนุนการทำงาน-เรียนที่บ้าน ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยให้ฟรีโมบายอินเทอร์เน็ต 10 GB เป็นเวลา 30 วัน และอัพสปีดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (เน็ตบ้าน) เป็น 100 Mbps ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินจากกองทุน กทปส. อีกราว 3,000 ล้านบาท

ทั่วถึง-ประโยชน์สาธารณะ-วิจัย

“กองทุน กทปส.” คืออะไร ทำไมถึงมีเงินเยอะและใจป้ำได้ขนาดนี้

เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า กทปส. เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นในสำนักงาน กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนแยกต่างหากจากบอร์ด กสทช.

แต่ประธานบอร์ด กสทช. เป็นประธานกองทุนโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการที่เหลือจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อาทิ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ขณะที่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งก็เป็นไปตามชื่อกองทุนคือ เพื่อดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง เพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ 3 อุตสาหกรรมนี้ ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพ

เปิดแหล่งที่มา-เงินคงเหลือ

ด้านเงินที่มาของกองทุนจะมาจากหลายทาง โดยแบ่งเป็น 4 บัญชี ได้แก่ บัญชีที่ 1 คือทุนประเดิมจากรัฐบาล เงินจัดสรรรายปีจากสำนักงาน กสทช., ค่าปรับทางปกครองจากกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตกระทำการฝ่าฝืนคำสั่ง หรือผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการ, ดอกผลและค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์งานวิจัยที่กองทุนสนับสนุน โดยล่าสุดเงินในบัญชีนี้คงเหลือให้เบิกจ่ายได้ราว 2,000 ล้านบาท

บัญชี 2 เงินสมทบรายปีเพื่อบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง (USO) จากผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ฝั่งบรอดแคสต์ซึ่งจะเรียกเก็บในอัตราเป็นขั้นบันได สูงสุดไม่เกิน 2% ของรายได้ ล่าสุดคงเหลือให้เบิกจ่ายราว 500 ล้านบาท

บัญชี 3 คือ เงินสมทบรายปีของ USO ฝั่งผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม มีอัตราเรียกเก็บไม่เกิน 2.5% ปัจจุบันเมื่อหักเงินที่จะต้องกันไว้เพื่อใช้ตามแผนการจัดบริการสาธารณะอย่างทั่วถึงที่ได้ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงที่ได้ปรับแผนยุทธศาสตร์เดิมเพื่อโยกงบประมาณไปสนับสนุนค่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับ work-learn from home ตามที่ กสทช.ประกาศไว้แล้ว จะคงเหลือให้เบิกจ่ายได้ราว 2,000 ล้านบาท

ส่วนบัญชี 4 ที่มาจากเงินรายได้จากการจัดสรรคลื่นที่รับคืนตามมาตรา 27 พ.ร.บ. กสทช.นั้น ยังไม่มีเงินส่วนนี้เข้ามา

ขณะที่การเบิกจ่ายเงินกองทุนนั้น จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ยกเว้นการเบิกจ่ายเงินกองทุนในบัญชีที่ 3 ต้องเป็นไปตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างทั่วถึง ที่ กสทช. ได้ประกาศแผนไว้ล่วงหน้า

ฉะนั้นในการช่วยเหลือโรงพยาบาลเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 จะมีเงินในบัญชี 1 และ 2 ที่มีราว 2,500 ล้านบาท ที่นำไปใช้ได้ จึงได้ตัดสินใจเปิดให้โรงพยาบาลที่เป็นแนวหน้าในการรับมือกับวิกฤตนี้ยื่นโครงการขอรับการสนับสนุนมาได้

ชงขอ “ห้องความดันลบ”

เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า หลังจากประกาศให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ขอรับเงินสนับสนุนต่อสู้กับโควิด-19 ขณะนี้มีหน่วยงานที่ยื่นขอรับการสนับสนุนและมีเอกสารครบถ้วนสำหรับการพิจารณาแล้ว 80 โรงพยาบาล รวมเป็นเงินกว่า 900 ล้านบาท

กระบวนการจากนี้คณะทำงานกำลังพิจารณาความเหมาะสมทั้งหมดก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดกองทุนและบอร์ด กสทช. เพื่ออนุมัติและเข้าสู่การเบิกจ่ายต่อไป ซึ่งจะเป็นการโอนเงินตรงไปที่โรงพยาบาลที่ยื่นขอมา ไม่ต้องผ่านหน่วยงานต้นสังกัดการบังคับบัญชาแต่อย่างใด

สำหรับโครงการที่ขอรับการสนับสนุนมาก ได้แก่ การสร้าง “ห้องความดันลบ”ซึ่งถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนมาก สำหรับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส เนื่องจากเป็นห้องพักสำหรับผู้ป่วยแบบแยกเดี่ยว ที่มีความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอก ซึ่งตามปกติอากาศจะไหลจากที่ที่มีความดันอากาศสูงกว่าไปหาที่ที่มีความดันอากาศต่ำกว่า นั่นหมายความว่า อากาศภายในห้องผู้ป่วยซึ่งถูกทำให้มีความดันต่ำกว่า จะไม่ไหลออกจากห้องเมื่อมีการเปิด-ปิดประตู และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากในห้องไปสู่บริเวณอื่น ๆ ในสถานพยาบาล แต่ปัจจุบันยังมีโรงพยาบาลในประเทศไทยไม่กี่แห่งที่มีใช้งาน

นอกจากนี้เป็นการขอสนับสนุนอุปกรณ์รองรับระบบแพทย์ทางไกลต่าง ๆ

ประสานปรับโครงการเข้าเกณฑ์

ด้านแหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช.เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายเงินของกองทุน กทปส.ถูกระบุให้ต้องเข้าเกณฑ์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนเท่านั้น ฉะนั้น ในขณะนี้จะต้องมีการประสานกับหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนเข้ามาให้ปรับเปลี่ยนโครงการ จากการ “ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์” ให้นำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การแพทย์ทางไกล หรือการวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านไอซีที เพื่อให้เข้าเกณฑ์กองทุนที่จะเบิกจ่ายได้

“ถ้าเป็นโครงการซื้อวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ หรือซื้ออุปกรณ์การแพทย์อย่างเดียว ไม่เข้าข่ายที่จะเบิกจ่ายได้ ถ้าสำนักงาน กสทช.จะสนับสนุนจะต้องใช้เงินในส่วนที่เกลี่ยงบประมาณสำนักงานมาให้ ซึ่งไม่เพียงพอกับปริมาณที่ขอมาแน่นอน แต่ถ้าทำเป็นโครงการที่มีระบบคอมพิวเตอร์ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายระหว่างโรงพยาบาลหลักกับโรงพยาบาลลูกข่ายเพื่อขอคำปรึกษาในลักษณะแพทย์ทางไกล แบบนี้ใช้งบฯกองทุนได้ หรืออย่างห้องความดันลบ ก็สามารถใช้เป็นโครงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้”ิ