Zipline กับปฏิบัติการ พิชิตโควิดในแอฟริกา

FILE PHOTO: by en.wikipedia.org/wiki/Zipline_(drone_delivery)
คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

หากถามว่าประเทศใหนในโลกที่มีการใช้ “โดรน” ควบคุมการกระจายเชื้อโควิดในชนบทได้ดีที่สุด คงไม่มีใครคิดว่าม้ามืดตัวจริงกลับเป็นประเทศเล็ก ๆ แสนจะยากจนอย่าง “กานา” แห่งแอฟริกาเป็นแน่

แต่ “กานา” นี่แหล่ะที่เป็นประเทศแรกที่มีการใช้โดรนรับส่งอุปกรณ์และผลตรวจเชื้อโควิดระหว่างชนบทห่างไกลกับห้องแล็บในเมืองได้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพที่สุด จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับสตาร์ตอัพที่ชื่อ Zipline

เราเคยเขียนถึงสตาร์ตอัพเชื้อสายอเมริกันที่ให้บริการขนส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์รายนี้มาแล้วเมื่อปีก่อน และวันนี้อยากเล่าให้ฟังอีกครั้ง เพราะผลงานดีต่อเนื่องไม่มีตกก่อตั้งในปี 2011 ในซิลิคอนวัลเลย์

Zipline เริ่มให้บริการปี 2016 ในรวันดา โดยร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นในฐานะผู้ให้บริการขนส่งเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ผ่านโดรนที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

เม.ย.ปีที่แล้ว บริษัทขยายกิจการมาที่ “กานา” มีกองทัพโดรนที่มีศักยภาพในการส่งอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิดไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศ และส่งตัวอย่างเชื้อกลับมาตรวจในห้องแล็บในเมืองหลวงได้วันละ 15,000 ชุด

อุปสรรคใหญ่ของ “กานา” ไม่ได้ขาดแคลนชุดตรวจ แต่คือระบบการคมนาคมขนส่งที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้การกระจาย COVID-19 test kits หรือการนำตัวอย่างเชื้อกลับมาวินิจฉัยที่ห้องแล็บในเมืองต้องใช้เวลา 2-7 ชั่วโมง ในบางพื้นที่ที่ห่างไกลมาก ๆ อาจใช้เวลาข้ามวันเลยทีเดียว ปัญหานี้ทำให้หมอในชนบทไม่สามารถส่งตัวอย่างเชื้อมาห้องแล็บ (ที่มีอยู่แค่ 2 แห่ง) ได้ทันที แต่ต้องรอจนเทสต์หลายคนก่อนถึงส่งมาพร้อมกันในคราวเดียวเพื่อประหยัดน้ำมัน ทำให้การตรวจเชื้อล่าช้าไปกว่าเดิม

บริการของ Zipline เหมือนเปิดมิติใหม่แห่งระบบโลจิสติกส์ในกานา เพราะแค่ส่ง SMS ไปที่ศูนย์ Zipline ก็มีโดรนบินมารับตัวอย่างเชื้อยังจุดนัดหมายเพื่อนำส่งไปห้องแล็บ ใช้เวลาบินต่อเที่ยวแค่ครึ่งชั่วโมง ทำให้ “กานา” กลายเป็นประเทศที่ตรวจเชื้อโควิดได้ถึง 70,000 ครั้ง มากที่สุดในแอฟริกา

ก่อนหน้าโควิดจะระบาด Zipline จับมือเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลในการให้บริการขนส่งอุปกรณ์แก่คลินิกและสถานพยาบาลในต่างจังหวัดของรวันดาและกานาอยู่แล้ว โดยมี distribution center 2 แห่งในรวันดา และ 4 แห่งในกานา

“โดรนหรือเครื่องบินจิ๋วไร้คนขับ” ของ Zipline พร้อมสแตนด์บายให้บริการ 7 วัน ตลอด 24 ชม. โดรน 1 เครื่อง บรรทุกของหนัก 1.8 กก. และใช้เวลาบินเฉลี่ย 30 นาทีต่อเที่ยว ในรัศมี 80 กม. โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการบินผ่านแท็บเลต เมื่อถึงจุดรับสินค้าเครื่องจะปล่อยร่มชูชีพที่บรรจุสิ่งของไว้ลงมา กระบวนการทั้งหมดจะลดการสัมผัสระหว่างคนให้น้อยที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

กองทัพโดรนของ Zipline ในกานาใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีโดรนประจำการ 120 เครื่องใน 4 ศูนย์ทำให้แต่ละศูนย์ขนส่งยาและอุปกรณ์ได้วันละ 500 เที่ยว ครอบคลุมสถานพยาบาลกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ของ Zipline ยังช่วยให้คนไข้ที่ป่วยโรคอื่น ได้รับยาและเข้าถึงการรักษาทันท่วงที ไม่ต้องเดินทางมารักษาในเมือง ทำให้โรงพยาบาลในเมืองมีเตียงเพียงพอรองรับคนไข้

โควิด และแบ่งเบาภาระทีมแพทย์ได้มาก เช่น คนป่วยมะเร็งในรวันดาไม่ต้องเดินทางข้ามเมืองมารับยาคีโมเพราะหมอส่งยาให้ผ่าน Zipline ได้ และหมอก็สามารถสั่งเลือดมาสต๊อกได้สะดวกรวดเร็วกว่าเดิม

หลังจากได้ดิบได้ดีในแอฟริกาจนกลายเป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นที่มีค่าตัวกว่า 1.25 พันล้านเหรียญมาแล้ว บริษัทมีแผนกลับมาให้บริการในบ้านเกิดที่อเมริกาด้วย โดยอยู่ระหว่างขออนุญาตจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ คาดว่าจะให้บริการได้ในสิ้นปีนี้ หากเร็วกว่านี้ได้บริษัทก็ยินดี เพราะอเมริกาเป็นประเทศมียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดมากที่สุดในโลก ทำให้บริการของ Zipline มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการมากขึ้นไปด้วย