Diamond Foundry ปลูกเพชรจากห้องแล็บ

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ ปัญหาทำเงิน

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

 

หลายคนคงเคยดูหนังเรื่อง Blood Diamond ที่นำแสดงโดยพระเอกหนุ่มชื่อดัง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ มาแล้ว หนังเรื่องนี้ตีแผ่ความจริงอันแสนโหดร้ายของอุตสาหกรรมเพชรให้สังคมได้รับรู้ว่า มีคนมากมายในแอฟริกาที่ต้องถูกบังคับให้มาเป็นแรงงานทาสในเหมืองเพชร เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ได้มีแหวนเพชรเม็ดงามมาประดับอวดกัน

เงินที่ได้จากการขายเพชรเหล่านี้ยังถูกใช้โดยกองกำลังติดอาวุธเพื่อแย่งชิงอำนาจในหลายประเทศจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ และทำให้ผู้บริสุทธิ์อีกหลายล้านคนต้องเสียชีวิต หรือไม่ก็กลายเป็นคนพลัดถิ่น ไร้บ้าน ไร้ครอบครัว และไร้อนาคต

ถึงหนัง Blood Diamond จะลาโรงไปนานแล้ว แต่ลีโอนาร์โด ยังคงเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการรณรงค์ให้หยุดความรุนแรงในอุตสาหกรรมเพชร และเขายังเป็นหนึ่งในนักลงทุนคนแรก ๆ ที่ร่วมกันลงขันกว่า 100 ล้านเหรียญเพื่อสนับสนุน Diamond Foundry

สตาร์ตอัพที่เราจะพูดถึงในวันนี้ก่อตั้งในปี 2012 โดย มาร์ติน รอซชีเซ่น ผู้มีดีกรีปริญญาเอกด้านวิศวกรรมจากสแตนฟอร์ด Diamond Foundry เป็นหนึ่งในบริษัทไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถผลิตเพชรได้เองแบบไม่ต้องพึ่งการทำเหมือง (และแรงงานทาส) โดยใช้เตาปฏิกรณ์พลาสมาที่ให้ความร้อนสูงมากพอ ๆ กับพระอาทิตย์มาใช้ในการผลิต หรือ “ปลูก” เพชรในห้องแล็บ ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า การตกตะกอนไอระเหยของสารเคมี (chemical vapor deposition) ซึ่งจะใช้ไอระเหยของสารประกอบคาร์บอนเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์

ถึงแม้การผลิตเพชรในห้องทดลองจะมีมาตั้งแต่ช่วงปี 1940s โดยเป็นการผลิตเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม แต่กว่าจะมีการพัฒนาจนสามารถผลิตเพชรที่มีคุณสมบัติเหมือนกับเพชรจากธรรมชาติจริง ๆ ก็กินเวลาต่อมาอีกหลายสิบปี

สำหรับ Diamond Foundry บริษัทต้องใช้ทีมวิศวะหัวกะทิหลายสิบคน เงินหลายสิบล้านเหรียญ กับเวลาอีกเกือบ 3 ปี ในการออกแบบ และทดลองด้านเทคนิค กว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่พอใจ

เพชรลอตแรกของ Diamond Foundry ออกวางขายอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2015 โดยเน้นที่คุณภาพดีไม่ต่างจากเพชรธรรมชาติ แต่มีกระบวนการผลิตที่โปร่งใส ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้แรงงานทาส และก่อให้เกิดเงินบาปที่นำไปหล่อเลี้ยงสงครามอันโหดร้าย โดยเพชรทุกเม็ดที่ผลิตจะถูกส่งไปตรวจสอบและจัดเกรดคุณภาพจาก “สถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา” ก่อนออกจำหน่าย

กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้บริโภครุ่นใหม่ชาวมิลเลนเนียล ที่ใส่ใจต่อแหล่งที่มาพอ ๆ กับคุณภาพของสินค้า คนกลุ่มนี้จะไม่ยึดติดกับค่านิยมเก่า ๆ ว่าเพชรแท้ต้องขุดมาจากเหมืองเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการผลิตที่โปร่งใสและมีจรรยาบรรณมากกว่า

ถึงแม้อุตสาหกรรมเพชรจะเข้มงวดเรื่องแหล่งที่มาและขั้นตอนการผลิตมากขึ้น การพิสูจน์ว่าเพชรแต่ละกะรัตนั้นมาจากที่ใดบ้างแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะหลังจากถูกส่งออกจากเหมือง เพชรเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนมือไม่น้อยกว่า 20 รอบ กว่าจะวนมาถึงมือลูกค้า

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ลูกค้ารุ่นใหม่จะเทใจให้ Diamond Foundry มากกว่าร้านเพชรทั่วไป เพราะสามารถมั่นใจได้ 100% ว่าเพชรที่ซื้อมานั้น “บริสุทธิ์” แน่นอน ทั้งในแง่ของคุณภาพ และแหล่งที่มา

Diamond Foundry ขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง รวมทั้งส่งไปขายตามร้านเพชรชื่อดังอย่าง Barneys ปลายปีที่แล้วบริษัทตัดสินใจซื้อกิจการของ Vrai & Oro สตาร์ตอัพจิวเวลรี่ที่กำลังมาแรงในโลกโซเชียล ทำให้ได้ทีมนักออกแบบเครื่องประดับเก่ง ๆ มาร่วมงานอีกเพียบ แถมยังได้ช่องทางเจาะเข้าฐานลูกค้ามิลเลนเนียลที่เป็นลูกค้าหลักของ Vrai & Oro อีกด้วย

ปีที่ผ่านมา Diamond Foundry ขายเพชรได้มากกว่า 1 หมื่นกะรัต โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2-3 และกระโดดเป็น 3 เท่าในไตรมาสที่ 4 ปีนี้บริษัทเลยตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 4 เท่าเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ถึงแม้ปัจจุบันเพชรจากห้องแล็บจะมีส่วนแบ่งเพียงแค่ 1% ของตลาดเพชรทั้งหมด แต่จากการรายงานของ The Economist ระบุว่า การผลิตเพชรจากเหมืองจะถึงจุดพีกสุดในปี 2019 และหลังจากนั้นกำลังการผลิตจะลดลงปีละ 1-2% ซึ่งน่าจะเปิดโอกาสให้เพชรจากห้องแล็บเข้ารุกชิงพื้นที่ได้บ้าง

ที่สำคัญคือ การมีเพชรจากห้องแล็บออกมาเป็นตัวเลือก ทำให้หลายคนสบายใจขึ้นยามหยิบมาสวมใส่ อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่า เจ้าอัญมณีแสนสวยนี้ไม่ได้ทำมาจาก “เพชรโลหิต” ที่แลกมาด้วยชีวิตของใคร

ถึงแม้มูลค่าทางตลาดอาจไม่สูงเท่า “เพชรแท้” จากธรรมชาติ แต่สำหรับหลาย ๆ คน มูลค่าทางใจที่ได้รับกลับสูงเกินกว่าจะตีค่าเป็นตัวเงินได้