ดีแทค ชี้โควิดระวังใช้เงิน เปลี่ยนมือถือช้า-รอได้ “5G” ลุยอัพสปีดเน็ตบน 4G เน้นราคาจับต้องได้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า ในวันนี้ (24 กรกฎาคม 2563) นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค นำทีมผู้บริหาร แถลงทิศทางของบริษัทในครึ่งหลังของปีนี้ และถือเป็นการพบปะครั้งแรกหลังมาตรการคลายล็อกของรัฐบาล

โดยเปิดเผยว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานในองค์กรให้สอดรับสถานการณ์ปัจจุบันในรูปแบบ
‘ชัดเจน-ยืดหยุ่น-ชัดเจน (tight-loose-tight)’ คือชัดเจนเรื่องความคาดหวัง ยืดหยุ่นในวิธีการที่พนักงานใช้ในการบรรลุเป้าหมาย และชัดเจนเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ

โดยจะมีการนำระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการแข่งขันมากขึ้น ทั้งให้พนักงานสลับกันเข้าออฟฟิศในแต่ละสัปดาห์หรือในวันที่จำเป็นเท่านั้น

“การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ก็เพื่อให้ทีมงานมีเวลามากขึ้นในการคิดในสิ่งที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อลดพนักงาน เราเชื่อว่าพนักงานมองหารูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น เพราะทำให้รู้สึกมีอิสระในการตัดสินใจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความพึงพอใจของพนักงานได้”

และเพื่อรองรับมือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครึ่งหลังของปี ดีแทคจะดำเนินการ 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. สร้างระบบนิเวศดิจิทัลแบบไร้รอยต่อ 2.พัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายทั่วประเทศรองรับพฤติกรรมใหม่และการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้บริโภค
และ3.การทำงานในรูปแบบวิถีใหม่

“เราจะมีมอบสิทธิพิเศษและบริการต่างๆ ในราคาที่เป็นมิตร และช่วยแบ่งเบาภาระการเงินให้ลูกค้าที่เป็นคนฐานใหญ่ของประเทศ เช่น ประกันสุขภาพ และการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมเร่งติดตั้งเทคโนโลยี Massive MIMO และระบบ 4G-TDD รองรับการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้น คาดว่าในปีนี้จะลงทุน 8 พัน-1หมื่นล้านบาท”

นายชารัดกล่าวต่อว่า ดีแทคมองเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงในครึ่งปีหลังใน 4 ด้าน

ได้แก่ อำนาจการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง การใช้งานช่องทางดิจิทัลมากขึ้น แรงงานหลั่งไหลกลับภูมิลำเนา และการใช้ดาต้าที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทำให้การนำเสนอบริการที่เชื่อมต่อใน

“ราคาที่จับต้องได้”เป็นความท้าทายปัจจุบันการใช้ดาต้าเฉลี่ยโตขึ้น 44% จาก ม.ค.-มิ.ย. อีกทั้งการใช้ในภูมิภาคยังโตสูงกว่ากรุงเทพฯ 5 เท่า แม้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว

“คนไทยระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนเครื่องใหม่นานขึ้น เป็นกว่า 36 เดือน ส่วนเรื่อง 5G คาดว่าเราจะมียูสเคสบนคลื่น 26 GHz ในไตรมาส 3 ส่วนคลื่น 700 MHz อยู่ที่ว่า กสทช.จะอนุญาตให้ใช้คลื่นได้ทันไตรมาส 4 หรือไม่”

นายชารัดกล่าวด้วยว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการคือความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ดีในราคาที่เหมาะสม ซึ่งดีแทคเชื่อว่าคุณภาพเครือข่ายและบริการที่มีปัจจุบัน และแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในครึ่งปีหลังจะสามารถตอบโจทย์คความต้องของลูกค้าได้

นายฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัทเดียวกัน เสริมด้วยว่า ในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก คนมีเงินในกระเป๋าน้อยลงทำให้ความคาดหวังกับความเป็นจริงใกล้กันมากขึ้น และมองถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นวในปัจจุบันมากกว่า เช่น การมีบริการที่จะมาช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทำให้หาเงินได้มากขึ้นในราคาที่เหมาะสม ซึ่งดีแทคจะโฟกัสในสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความสำคัญกับ 5G เพียงแต่มองว่าการพัฒนาบริการ 5G เปรียบได้กับการวิ่งระยะมาราธอน ที่ต้องใช้เวลา