สแกนตลาดไอที-มือถือกลาง “โควิด” ย้ำ “ออนไลน์” วิถีปกติใหม่ค้าปลีก

ตลาดไอที ยุคโควิด
ภาพประกอบข่าว : Mladen ANTONOV / AFP

ได้รับอานิสงส์จากมาตรการล็อกดาวน์สำหรับธุรกิจสินค้าเทคโนโลยี จากกระแสเวิร์กฟรอมโฮม (work from home) และการเรียนออนไลน์

ข้อมูลล่าสุดจาก “จีเอฟเค” บริษัทวิจัยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าไอซีที เปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา(ม.ค.-มิ.ย. 2563) ภาพรวมตลาดสินค้าไอทีที่ขายผ่านทุกช่องทาง ทั้งหน้าร้านและออนไลน์เติบโตขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นยอดขายคอมพิวเตอร์พกพา อาทิ โน้ตบุ๊ก และแล็ปทอป 7,796 ล้านบาท โต 14% เทียบปีที่แล้วที่มีมูลค่า 6,860 ล้านบาท พรินเตอร์ 325 ล้านบาท ลดลง 20% เทียบปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 404 ล้านบาท ส่วนอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (storage) 1,272 ล้านบาท และแท็บเลต 2,945 ล้านบาท โต 44% เทียบปีที่แล้วที่มีมูลค่า 2,052 ล้านบาท

ช่องทางออนไลน์โตฉุดไม่อยู่

ช่องทางขายผ่านออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญที่กระตุ้นให้ตลาดเติบโต โดยครึ่งปีแรกโต 153% โดยสินค้าไอที 4 กลุ่มหลักโตยกแผง ได้แก่ คอมพิวเตอร์พกพา มีมูลค่า 2,010 ล้านบาท โต 163% เทียบปีก่อนที่มีมูลค่า 763 ล้านบาท พรินเตอร์ 162 ล้านบาท โต 22% จากปีที่แล้วที่ 133 ล้านบาท อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (storage) 597 ล้านบาท โต 93% เทียบปีก่อนที่มีมูลค่า 309 ล้านบาท และแท็บเลต 1,178 ล้านบาท โต 319% เทียบปี 2562 ที่มีมูลค่าเพียง 281 ล้านบาท

ขณะที่ช่องทางออฟไลน์หรือหน้าร้านลดลง 9% ทำให้ยอดขายสินค้าไอทีผ่านหน้าร้านลดลงด้วย แบ่งเป็นคอมพิวเตอร์พกพา 5,786 ล้านบาท ลด 5% เทียบปี 2562 ที่มีมูลค่า 6,096 ล้านบาท พรินเตอร์ 162 ล้านบาท ลด 40% เทียบปีที่แล้วที่มีมูลค่า 271 ล้านบาท อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (storage) 675 ล้านบาท ลด 30% เทียบปีก่อนที่มีมูลค่า 963 ล้านบาท สุดท้ายแท็บเลต 1,767 ล้านบาท ลดลง 0.2% เทียบปีที่แล้วที่มีมูลค่า 1,771 ล้านบาท

สแกนตลาดสินค้าไฮเทค

เมื่อเจาะลงมายังตลาดสินค้าเชิงเทคโนโลยี (technical consumer goods : TCG) รวมสมาร์ทโฟน, แท็บเลต และฟีเจอร์โฟน พบว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา การขายผ่านหน้าร้านเติบโตลดลง จากมาตรการล็อกดาวน์ที่ต้องปิดหน้าร้าน ระหว่าง มี.ค.-เม.ย. โดยกลุ่มอุปกรณ์สื่อสาร

กราฟิก สินค้าไอที

เช่น สมาร์ทโฟน แฟ็บเลต (Phablet) และฟีเจอร์โฟน มีมูลค่า 39,577 ล้านบาท ลดลงถึง 23% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกลุ่มสินค้าไอที เช่น คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ USB คอมพิวเตอร์พกพาลดลง 12% จาก 11,785 ล้านบาทปีที่แล้วช่องทางขายออนไลน์จะกลายเป็นวิถีปกติใหม่ของตลาดไอที

ปรับตัวเร็วเพิ่มโอกาสใหม่

ก่อนหน้านี้ นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอทีรายใหญ่ เปิดเผยว่า การปิดสาขาชั่วคราว 121 สาขา จาก 148 สาขาในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก บริษัทจึงปรับกระบวนการทำงานให้เหมาะกับสถานการณ์ตลาดและพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค นำหุ่นยนต์มาใช้ในคลังสินค้าเพื่อจัดการออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้นมากได้ รวมถึงมีทีมเทเลเซลส์ (telesales) ดูแลการขายและการบริการลูกค้า

“มี.ค.ไม่มีผลกระทบเท่าไร แต่ เม.ย.โดนเต็ม ๆ เพราะสาขาปิดเยอะ แต่เราแก้ปัญหาด้วยการเปิดสาขาย่อย และมีทีม telesales ดึงพนักงานมาช่วยเรื่องออนไลน์ ทำให้ยอด เม.ย.ตกไปแค่ 16% จากที่ควรตก 80% ในภาพรวมจึงคิดว่าเป้ายอดขายหมื่นล้านบาทในสิ้นปีน่าจะทำได้”


สอดรับกับนายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่บอกว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้ช่องทางขายบนออนไลน์โตขึ้นอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปชัดเจน แต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทัน ซึ่งบริษัทค้นพบวิธีการทำตลาดและรูปแบบการสื่อสารผ่านออนไลน์ใหม่ ๆ ที่เจาะเข้าหาผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้ดีขึ้น นั่นหมายถึงโอกาสมหาศาล เพียงแต่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนการขายให้สอดรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป.