“สมาร์ทไอดี” ฝันไกลไปถึง…ดัน “แบรนด์ไทย” ปักธง AEC

สัมภาษณ์

ซีอีโอ “สมาร์ทไอดีกรุ๊ป-พิชเยนทร์ โทมัส หงส์ภักดี” เป็น 1 ใน 8 สุดวิทยากรที่มาขึ้นเวทีสัมมนาแห่งปี “Passion To Profit พลิกมุมคิด สร้างธุรกิจให้ติดลม” จากการสนับสนุนโดยธนาคารไทยพาณิชย์ (27 ก.ย. 2560) โดยได้ “สุธีรพันธ์ สักรวัฒน์”ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุดการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้สัมภาษณ์ ดังนี้

Q : จุดเริ่มต้นธุรกิจ

เรียนจบบริหารธุรกิจเอแบค ก็เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลง มี passion อยากไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงของโลก จนคุณแม่แนะนำเพื่อนที่เป็นรุ่นเดียวกับผมให้รู้จัก เป็นชาวฝรั่งเศส เป็นแฮกเกอร์ ทำพวกชิปเซต เขียนโปรแกรม โคดดิ้งต่าง ๆ อยู่ปารีส แต่มาเที่ยวเมืองไทย ปี 2002-2003 ก็เริ่มธุรกิจแรกกับเขา ทำงานเป็นทีม มีทั้งคนโปแลนด์ ตุรกี แต่อยู่กันคนละที่ คุยงานผ่านโปรแกรมแชต

เราเป็นคนเอเชียคนเดียวในกลุ่ม ผลิตชิปเซต และโคดดิ้งโปรแกรม ใส่เข้าไปในเครื่องเล่นเกม Xbox เพื่อเพิ่มความสามารถของอุปกรณ์ เราขายชิปเซตนี้ไปทั่วโลก คือเมื่อก่อนเครื่องเล่นจะมีล็อกเกมไว้ ชิปเซตนี้อันล็อกทุกอย่าง ถือเป็นสตาร์ตอัพยุคแรก

Q : ไม่ได้เรียนด้านนี้แต่ทำได้

เราเห็นว่ามีจุดที่ปรับปรุงได้เยอะ อย่างการผลิตในฝรั่งเศสต้นทุนชิปเซตตัวละพันกว่าบาท ขณะที่ธุรกิจนี้ถูกกฎหมายในบางประเทศ ผิดกฎหมายในบางประเทศ ในฝรั่งเศสถ้าคุณเปิดโมดิฟายอุปกรณ์มาตรฐานอย่าง Xbox ทำไม่ได้ แต่ในไทยในเอเชียทำได้ ผมก็เลยบอกว่า มาเมืองไทยดีกว่า ก็ไปหาโรงงานจนได้โรงงานขนาดเล็กแถวลาดกระบัง บางนา ทำนาฬิกามาทำให้ลดต้นทุนได้จากพันบาทเหลือ 60 บาท

กำลังผลิตเดิมต้องนั่งเชื่อมเอง กลายเป็นทำได้ 30,000 ชิ้น เดิมต้องแอบขายในฝรั่งเศส มาผลิตที่เมืองไทยแล้วเรียก FedEx ขนส่ง ตอนนั้น FedEx เพิ่งเข้ามาเมืองไทย ผมได้เรตลด 40% เท่าบิ๊กคอร์ปอเรต ทำให้ค่าส่งถูกมาก เราขายไปทั่วโลก เป็นบริษัทที่สองในไทยที่ทำฟูลอีคอมเมิร์ซ เปิดเว็บ123ship.com ขายทั่วโลกจ่ายเงินผ่านบัตรได้ 100% ตั้งราคา 3,000-4,000 บาท ต้นทุน 60 บาท

Q : ยังทำงานประจำคู่ไปด้วย

ยุคผมไม่มีสตาร์ตอัพ ไม่มี SMEs มีแต่คำว่า เรียนจบมาต้องทำงานบริษัท ตระกูลผมมีแต่คนเรียนเก่ง ยกเว้นผมจึงต้องหางานทำ ที่แรกที่สปายไวน์ คูลเลอร์ ตอนเรียนปี 3 คุณพ่อเสีย เราเป็นพี่ชายคนโตอยากรับผิดชอบ ไม่อยากให้ที่บ้านไม่สบายใจจึงสมัครงาน ธุรกิจส่วนตัวเหมือนงานอดิเรก วัน ๆ นอน 3 ชั่วโมงไม่มีมุมไปเที่ยวผับกับเพื่อน

อยู่ที่สปายไวน์คูลเลอร์ไม่ถึงปี ย้ายมา Blue Elephant ภัตตาคารอาหารไทยสัญชาติเบลเยียม ตอนนั้นยังไม่เปิดร้านในไทย คอนเซ็ปต์คือ Thai cuisine ผมทำในส่วนการสร้างแบรนดิ้ง โปรดักต์ตั้งแต่เขียนแผนธุรกิจหาซัพพลายเออร์ ออกแบบโปรดักต์ เป็นมาร์เก็ตติ้งแมเนเจอร์

Q : ชิปเซตก็ยังขายอยู่

ขายได้เยอะมาก จนซัพพลายเออร์ที่เป็นคนสิงคโปร์ติดต่อขอเจอ เพราะเป็นคนที่ซื้อชิปเซตเยอะที่สุดในประเทศ พอบินมาเจอผมนั่งทำงานที่ Blue Elephant ก็มี question นิด ๆ แต่ผมคิดว่าผมมีตังค์ซื้อก็จบ

Q : แรงขับที่ทำให้ทำงานพร้อมกันได้

ผมเป็นคนไม่ชอบว่าง ไม่ชอบมีเวลาเหลือแล้วไม่รู้จะทำอะไร จะจิตตกมากถ้าว่างแล้วหายใจไปเรื่อย ๆ รู้สึกว่าไม่โปรดักทีฟ ถ้าอะไรมีช่องว่างเหลือ ผมจะอัดงานเข้าไป เพื่อให้ได้ทำงาน อยู่ Blue Elephant เกือบ 3 ปี ไปอยู่เบอร์ลี่ยุคเกอร์ ดูบิสซิเนสดีเวลอปเมนต์แมเนเจอร์ ได้เรียนรู้อะไรเยอะ

Blue Elephant ต้องทำงานทุกอย่าง ถ้าคนขาดเสิร์ฟอาหารก็ต้องไป แต่เบอร์ลี่ยุคเกอร์ทุกอย่างต้องตามระบบเวลาทำงานผมทำในส่วนของบริษัทเต็มที่ พอทำงานเสร็จปั๊บก็รีบวิ่งกลับบ้านไปทำงานต่อถึงตี 2 ตี 3

Q : ชิปเซตยังไปได้

เริ่มดรอปแล้ว เป็นเกม Catch me if you can คือเราทำไปทั้งกูเกิล โซนี่ก็จะไล่ปิดไปด้วยต้องโคดดิ้งหนีไปเรื่อย ทีมวิศวกรจะเหนื่อย แต่ผมเป็นทีมบริหารก็เฉย ๆ แต่ประเด็นคือ ถ้ามองยาว เกมนี้ไม่ยั่งยืน เราต้องรู้ว่าเราต้องลุกออกมาตอนไหน

การทำชิปเซตทำให้เราเห็นโลกกว้างมาก เพราะต้องเดินทางไปหลายประเทศ เห็นเทรนด์ เห็นโอกาสว่า ยุคต่อไปอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีคือหัวใจที่จะมาดิสรัปต์โลกแน่นอน แม้ตอนนั้นยังเป็นยุคโนเกีย 3310 จึงเปลี่ยนบิสซิเนสโมเดล ไปรับออกแบบสินค้า และ OEM ให้แบรนด์ไอทีต่าง ๆ

Q : OEM ก็ไปได้ดี

ตอนนั้นได้ทุกแบรนด์ ก็วางแผนธุรกิจใหม่มองยาว ๆ ว่าเราจะไปได้แบบไหน เพราะ OEM ลอตหนึ่งได้เงินเยอะ แต่เมื่อมองเทรนด์ยาว ๆ สงครามราคาของแบรนด์เหล่านี้สู้กันหนักมาก เราอยู่ในซัพพลายเชนของเขาหนีไม่พ้นแน่นอนที่จะถูกบีบเรื่องต้นทุน จึงมองว่าเราควรสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้น งานดีไซน์ต่าง ๆ เป็นแอ็สเซตอย่างหนึ่ง ยอดขายตอนนั้นร้อยล้าน อายุ 29 การทำ OEM จะไม่มี asset ไม่มีอะไรที่จะเป็นอนาคต เลยมองว่าต้องทำในสิ่งที่คนอื่นยังไม่ทำ และแตกต่างจึงกลับมาสร้างแบรนด์บนสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์

Q : อนาคตของสมาร์ทไอดี

เราจะยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พ.ค.ปีหน้า ผมฝันไว้ว่า ต้องการเข้าไปอยู่ใน SET 50 ให้ได้ มีสินค้าครอบคลุมเป็นอันดับ 1 ใน AEC ที่หมายถึงคน 600 ล้านคนที่จะใช้สินค้าเราอย่างน้อย 1 ชิ้นใน 1 ปี ขายในไทยได้ มักไม่มีปัญหาในการขายในภูมิภาคเพื่อนบ้าน เราเกิดจากไอที แต่ไม่เคยบอกว่าเป็นบริษัทไอที เราทำคอนซูเมอร์โปรดักต์ กำลังจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านปลายปีนี้จะทำให้คนไทย คน AEC ใช้แบรนด์ไทย