พิษโควิดฉุดลงทุนไอที “การ์ทเนอร์” ชี้รอฟื้นปี”64

ธุรกิจไอที
ภาพ : Pixabay

แม้เทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพลิกฟื้นธุรกิจรับมือทุกวิกฤต รวมถึงโควิด-19 ในหลายธุรกิจ แต่จากการคาดการณ์ของบริษัทวิจัย “การ์ทเนอร์ อิงค์” ประเมินว่าปี 2563 มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีของธุรกิจธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง 4.7% หรือ 514 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ไอทีในหมวดพีซี และอุปกรณ์เคลื่อนที่จะเติบโตลดลงมากที่สุด 12.1% ตามด้วยหมวดของระบบดาต้าเซ็นเตอร์

“เจฟฟ์ เคซีย์” นักวิเคราะห์อาวุโส การ์ทเนอร์ กล่าวว่า โควิด-19 ไม่เพียงส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีในแวดวงธนาคารและหลักทรัพย์เกิดความผันผวน แต่เป็นตัวกำหนดวิธีการทำธุรกรรมของลูกค้าต่อสถาบันการเงินให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยบริษัทเหล่านี้ยังต้องเดินหน้าให้บริการและตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้าในระยะแรกของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีใน 4 ประเด็น คือ

1.การดำเนินงานเพื่อเข้าถึงบริการพื้นฐานได้ต่อเนื่อง

2.ซัพพลายเชนเพื่อตอบสนองความต้องการซัพพลายเออร์และลูกค้ารายใหม่

3.รายได้เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อได้

Advertisment

4.แรงงานด้วยการสนับสนุนให้พนักงานทำงานจากระยะไกล

อย่างไรก็ตาม การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์จะกลับมาฟื้นในปี 2564 ด้วยอัตราการเติบโต 6.6% ทั่วโลก (ตามตาราง)

“ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์กำลังผลักดันและเริ่มใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น แชตบอตสื่อสารกับลูกค้า, การอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ และโซลูชั่นการสร้างบัญชีแบบend-to-end รวมถึงการมุ่งไปที่การออกแบบโครงสร้างองค์กรและขั้นตอนการทำงาน และการจัดลำดับความสำคัญของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ”

Advertisment

ผู้บริหารการ์ทเนอร์กล่าวว่า หลังการเติบโต 5% ในปี 2562 แต่โควิด-19 ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายด้านบริการไอทีลดลง แต่จะกินเวลาสั้น ๆ เพราะธนาคารต่าง ๆ จะกลับมาเร่งผลักดันและปรับปรุงเทคโนโลยีการให้บริการให้ทันสมัยขึ้นในปีหน้า

ขณะที่ความสามารถของการสร้างมูลค่าให้บริการและที่มาของรายได้แหล่งใหม่ ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อสร้างความสำเร็จระยะยาวตามแผนการฟื้นฟูธุรกิจ โดยโควิด-19 ผลักดันให้ธนาคารมองเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มบทบาทของการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล และขยายบริการให้ครอบคลุม เนื่องจากผลสำรวจ 2020 Gartner CIO Survey ระบุว่า ปัจจุบันธนาคารมีรายได้ที่มาจากบริการดิจิทัลเพียง 27% เท่านั้น