เตือนภัยคุกคาม “ไอโอที” ปิด 3 จุดเสี่ยงรับมือ “แฮกเกอร์”

สารพัดอุปกรณ์ในอนาคตจะติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านเทคโนโลยี “ไอโอที” (IOT:Internet of Things) และถือเป็นไฮไลต์ในงานแสดงเทคโนโลยีต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ แต่จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วยเช่นกัน

ในรายงาน “บทสรุปของระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับเครือข่ายบ้านอัจฉริยะในครึ่งปีแรกปี 2560” ของบริษัท เทรนด์ไมโคร อินคอร์ปอเรท ผู้ให้บริการโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ย้ำว่า ความนิยมของ IOT ทำให้การโจมตีทางไซเบอร์มีความหลากหลายและซับซ้อนขึ้น โดยอาชญากรไซเบอร์จะเข้าควบคุมเราเตอร์ของเครือข่ายภายในบ้านก่อนเปิดฉากโจมตีอุปกรณ์สำหรับบ้านอัจฉริยะ

จากรายงานล่าสุดแสดงให้เห็นว่า มีการโจมตีทางไซเบอร์มากกว่า 1.8 ครั้งผ่านเราเตอร์ของเครือข่ายในบ้านใน 6 เดือนที่ผ่านมา และ 80% คือการโจมตีขาออก คือแฮกเกอร์จะบุกรุกจนเข้าถึงอุปกรณ์ภายในบ้าน จากนั้นจะใช้มัลแวร์จากระยะไกลเพื่อดึงข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น รหัสผ่านหรือดักจับเนื้อหาที่ส่งโดยอุปกรณ์ที่ติดมัลแวร์ของตนแล้ว

“เทรนด์ไมโคร” ยังพบว่า มีความเสี่ยง 3 ประการที่เกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับบ้านอัจฉริยะ ได้แก่

1.ความเสี่ยงระยะยาวของเครือข่ายที่ไม่ได้รับการป้องกัน เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายภายนอกผ่านเราเตอร์ และผู้บริโภคมักมองข้ามการป้องกันความปลอดภัยให้เราเตอร์ ส่งผลให้แฮกเกอร์ใช้ช่องโหว่ของอุปกรณ์หรือเครือข่ายในบ้านเข้าควบคุมอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อภายในบ้านทั้งหมดได้อย่างอิสระ ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องเผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลในระดับร้ายแรง

2.ไม่เปลี่ยนรหัสผ่านเริ่มต้น อุปกรณ์ที่ใช้ในบ้านอัจฉริยะ เช่น เราเตอร์และเว็บแคม มักใช้ระบบเดียวกันในการทำงานเพื่อเอื้อต่อการจัดการ ผู้ใช้จึงไม่นิยมเปลี่ยนรหัสผ่านที่ติดมากับอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้แฮกเกอร์เข้าถึงอุปกรณ์ได้โดยง่าย

และ 3.อัตราการเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์ภายในบ้านต่ำและมีการอัพเดตเฟิร์มแวร์/ซอฟต์แวร์น้อยครั้ง อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อในบ้าน เช่น พีซี และทีวีอัจฉริยะมีอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างยาวนาน และไม่ได้มีการเปลี่ยนทดแทนบ่อยครั้ง ขณะที่ระบบซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์มักไม่ค่อยได้รับการอัพเดต การมองข้ามการอัพเดตระบบและเฟิร์มแวร์ส่งเสริมให้เกิดการคุกคามด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น

“ริชาร์ด กู” รองประธานอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และตลาดเชิงพาณิชย์ด้านไอโอที “เทรนด์ไมโคร” กล่าวว่า การโจมตีก็กำลังแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศต่าง ๆ โดยสหรัฐอเมริกา (28%), จีน (7%) และสหราชอาณาจักร (7%) ติด 3 อันดับแรกจาก 10 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีระบบบ้านอัจฉริยะจากอาชญากรไซเบอร์มากที่สุด แสดงให้เห็นว่าประเด็นการรักษาความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์ในบ้านอัจฉริยะเป็นภัยคุกคามระดับโลก

“การใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันผ่านระบบออนไลน์สำหรับการขุดบิตคอยน์ เพิ่มจำนวนขึ้นเกือบสองเท่าภายในไม่กี่เดือน การใช้ประโยชน์ของสิ่งที่ไม่ถูกต้องควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของอุตสาหกรรม ทำให้เกิดตลาดที่เหมาะสำหรับใช้ในการหาประโยชน์ของบรรดาอาชญากรไซเบอร์”

โดยอาชญากรไซเบอร์ที่โจมตีระบบเครือข่ายในบ้านสามารถแบ่งการโจมตีได้สองประเภท ได้แก่ การโจมตีขาเข้าและการโจมตีขาออก โดยการโจมตีขาเข้าจะเริ่มจากการที่แฮกเกอร์บุกรุกเข้าไปในเครือข่ายภายในบ้านเพื่อเข้าไปควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อัจฉริยะ เช่น คอนโซลเกม เราเตอร์ ทีวีอัจฉริยะ ผ่านอินเทอร์เน็ต ขณะที่การโจมตีขาออกจะเริ่มเมื่อแฮกเกอร์ควบคุมอุปกรณ์ระบบเครือข่ายผ่านการโจมตีขาเข้า จากนั้นจะใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อทำการละเมิดและโจมตีอุปกรณ์อื่น ๆ คอมพิวเตอร์เดสก์ทอป แล็ปทอป และกล้อง ไอพี เป็นเป้าหมายที่พบได้บ่อยที่สุดสำหรับการโจมตีขาเข้า ขณะที่การโจมตีด้วยเทคนิค ดีเอ็นเอส แอมพลิฟิเคชั่น แอตแทค (DNS Amplification Attack) เป็นการโจมตีขาออกที่พบมากที่สุด โดยเกือบ 80% ของการโจมตีทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเราเตอร์ภายในบ้านเป็นการโจมตีขาออก