เทคโนโลยีสปริงบอร์ดธุรกิจ 5G คลาวด์ AI พลิกเกมแข่งขัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากนี้ไปเศรษฐกิจดิจิทัลจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต และเป็นแรงส่งที่จะเสริมศักยภาพให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลงทุนดิจิทัลหนุนจีดีพีประเทศ

นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “ดิจิทัลอีโคซิสเต็มยกระดับศักยภาพไทยสู่ศูนย์กลางภูมิภาค” ที่จัดโดยเครือมติชนว่า เศรษฐกิจดิจิทัลอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งในการนำดิจิทัลมาขับเคลื่อนประเทศ

ทั้งนี้ จากข้อมูลนักวิเคราะห์ต่าง ๆ พบว่า ประเทศที่ลงทุนด้านไอซีทีประมาณ16-20% จะทำให้จีดีพีประเทศเติบโตขึ้น 1% ซึ่งประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนด้านดิจิทัลจำนวนมาก ก็ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจโดยรวมโตมากกว่า 50% ขณะที่ปัจจุบันไทยนำดิจิทัลเข้ามาผลักดันอุตสาหกรรมยังไม่ถึง 20%

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในเชิงบวก พบว่าปีนี้เป็นปีที่ไทยมี 5G อย่างจริงจังในปีแรก ประกอบกับมีการผลักดันเรื่องคลาวด์ เอไอ ถือเป็นอาวุธสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยให้โตขึ้นเรื่อย ๆ

“ขณะนี้หลาย ๆ ประเทศกำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และถือเป็นภารกิจหลักของแผนระยะยาว ในการนำเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาท็อปอัพเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตอย่างมีประสิทธิภาพ”

ยกตัวอย่าง จีน ที่ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมก็ยังอยู่ แต่นำดิจิทัลเข้ามาเสริม ทำให้จีดีพีและศักยภาพประเทศแข็งแรงขึ้น

“ในอนาคตการลงทุนด้านดิจิทัลมากกว่า 50% จะไม่ใช่การลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายสำคัญ คือ การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (digital transformation)”

ดึงเทคโนโลยีเสริมแกร่ง

สำหรับเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ connectivity,computing, cloud, AI และ applications

เริ่มที่ส่วนแรก คือ connectivity ซึ่งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G ทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงงานผลิตที่จะช่วยเชื่อมต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ต่อด้วย computing การคำนวณ ประมวลผล ซึ่งในอนาคตดีไวซ์จะเล็กลงและเข้าใกล้เรามากขึ้น อีกทั้งเริ่มมีศักยภาพการคำนวณผลต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

สำหรับ cloud ซึ่งปัจจุบันการใช้คลาวด์การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ถือเป็นตัววัดระดับความเป็นดิจิทัลไลเซชั่น (digitalization) คาดว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าทุกอุตสาหกรรมจะนำคลาวด์เข้ามาใช้มากกว่า 85% ของทั้งอุตสาหกรรม

ถัดมา AI ซึ่งข้อดี AI คือ คิดและตัดสินใจได้เร็ว โดยสิ่งที่จะต้องเติมเข้ามา คือ industry-know-how เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้ ทั้ง machine คนและอุตสาหกรรม

สุดท้ายคือ applications หรือการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาแปลงเป็นแอปพลิเคชั่น ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานถือเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรม และทำให้ไทยก้าวสู่กลยุทธ์ไทยแลนด์ 4.0

“ท้ายที่สุดการซินเนอร์ยีทั้ง 5 ส่วนนี้ จะทำให้เกิดศักยภาพและมูลค่าใหม่ ๆในอนาคต รวมถึงผลักดันในด้านต่าง ๆ ทั้ง IOT พัฒนาคนดิจิทัล และอุตสาหกรรม ให้โตไปพร้อมกัน”

เปิดสูตรดันไทยขึ้นฮับดิจิทัล

ขณะที่การผลักดันให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นายวรกานกล่าวว่า มีด้วยกัน 6 ส่วน ได้แก่ 1.การผลักดันในการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ 2.การสร้างมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น 3.การสร้างพาร์ตเนอร์ในแต่ละอุตสาหกรรม 4.พัฒนาบุคลากร สร้างสกิลต่าง ๆ 5.การสร้างความพร้อมด้านไอซีที และสุดท้ายการสร้างโปรเจ็กต์ในการนำไปใช้ และต่อยอดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสเต็ปการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยพบว่า ไม่ได้อยู่ในระดับเริ่มต้น แต่มีการลงทุนมาต่อเนื่องทั้งบรอดแบนด์ 5G รวมถึงการยกระดับคลาวด์ computing ให้มีความพร้อมมากขึ้น หลังจากนั้นก็ต่อยอดนำ big data เข้ามา เพื่อให้เกิดการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ ด้านผู้ใช้ก็เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพการเชื่อมต่อ ผลักดันให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ไทยพัฒนาไปเรื่อย ๆ

จากนี้ไปเศรษฐกิจดิจิทัลจะเพิ่มบทบาทและเป็นส่วนเร่งเศรษฐกิจไทย ซึ่งตอนนี้ก็เป็นโอกาสที่ดี เพราะไทยออกตัวเร็วจากการเปิดตัว 5G ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วขึ้น.