จะขายของ ‘ออนไลน์’ ให้ดี ต้องมีครบทุกช่อง

คอลัมน์ Pawoot.com

 

คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

เราอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน เมื่อพูดถึงการค้าขายวันนี้ เรียกว่าหากใครไม่เข้ามาในระบบดิจิทัลคงไม่ได้แล้ว แพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนการซื้อขายทางออนไลน์มีข้อเด่นข้อด้อยอย่างไร ลองมาดูกันอีกสักครั้ง

แพลตฟอร์มการขายของออนไลน์ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ช่องทางหลัก ๆ 1.คือช่องทางที่ง่ายมากที่สุด social media เป็นแพลตฟอร์มเปิดที่ง่าย เข้าไปสมัครใช้ทุกอย่างฟรีหมด คำถามคือ คนที่ทำอย่าง Facebook หรืออื่น ๆ ได้เงินจากไหน ก็ได้จากการลงโฆษณาที่มีคนมาจ่ายค่าโฆษณา

ถัดมา 2.คือช่องทางมาร์เก็ตเพลซ เป็นแบบฟอร์มที่มีความง่าย แต่มีความซับซ้อนมากกว่าโซเชียลมีเดีย คือการขายเข้ามาร์เก็ตเพลซ เช่น Lazada, Shopee, JD และมาร์เก็ตเพลซมี 2 ระดับ หนึ่งเป็น horizontal market place เช่น Lazada, Shopee, JD คือเป็นตลาดนัดที่มีของขายทุกอย่าง เป็นแนวกว้าง

แต่อีกแบบเป็นแบบเฉพาะเรียกว่า vertical market place เป็นตลาดนัดขายเกี่ยวกับสินค้าเฉพาะกลุ่ม เปรียบเทียบเหมือนไปสำเพ็งก็จะเจอพวกของเล่น หรือไปย่านวรจักรก็จะเจออะไหล่

นี่คือตลาดเฉพาะ แต่ในออนไลน์มีตลาดเฉพาะ หรือ vertical market ยังไม่มากเท่าไหร่ ฉะนั้น หากคุณเป็นเจ้าของสินค้าสามารถที่จะเลือกขายสินค้าทั้งในมาร์เก็ตเพลซที่เป็นแบบแนวกว้าง หรืออาจขายในตลาดเฉพาะทางได้ด้วยเหมือนกัน

ตัวที่ 3 มีความซับซ้อนมากที่สุด แต่เป็นช่องทางที่ดีที่สุด คือการเปิดเว็บไซต์ขายสินค้าของตนเอง เพราะเป็นช่องทางที่เราสามารถควบคุมได้ทุกอย่าง แต่จุดอ่อนของช่องทางที่ 3 ก็เป็นจุดอ่อนที่หนักที่สุดตรงเป็นช่องทางของเราเอง การที่จะให้ลูกค้าเดินเข้ามาเองในช่องทางนี้ เราต้องลงทุนลงแรง
ต้องมีการใช้เม็ดเงิน ต้องทำการตลาดในการดึงลูกค้าเข้ามาที่ช่องทางนี้

ขณะที่ช่องทางที่ 1 โซเชียลมีเดีย และ2 มาร์เก็ตเพลซ อาจไม่ต้องใช้เงินมากนักเพราะเป็นช่องทางที่มีคนเยอะอยู่แล้ว เรียกว่าการลงทุนลงแรงจะต่างกัน แต่หากถามว่าจำเป็นไหม ต้องตอบว่าจำเป็น เพราะช่องทางที่ 1 และช่องทางที่ 2 เรากำลังยืมจมูกคนอื่นหายใจอยู่ วันดีคืนดีมีการเปลี่ยนกฎ มีการปิดข้อมูลลูกค้าของเรา ทุกอย่างมันก็จะหายไปหมดเลย

ฉะนั้น เราต้องเอาทั้งช่องทางที่ 1, 2 และ 3 มาผนวกเข้าด้วยกันให้กลายเป็น integrated commerce solutions เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วอย่างไหนจะง่ายมากที่สุด คำแนะนำในวันนี้สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนเลย คือ 1.มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวพอ 2.หาสินค้าดูว่าเราจะหาที่ไหนมาได้บ้าง

อย่างแรก คือ คุณต้องเริ่มเข้าไปดูว่าสินค้าของคุณตรงกับกลุ่มไหน เช่น มีรองเท้าส้นสูงสำหรับกลุ่มสาวออฟฟิศ เมื่อมีสินค้าและวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนแล้ว สิ่งที่ต้องทำ คือ เข้าไปใน Facebook เข้าไปจอยในห้อง ใน Facebook group จะมีกรุ๊ปต่าง ๆ เต็มไปหมดเลย เช่น ผู้หญิงอ้วน กลุ่มคนออกกำลังกาย ฯลฯ ก็เข้าไปจอยในห้องที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

การเข้าไปในกลุ่มหลาย ๆ กรุ๊ปสามารถเข้าไปพูดคุย บางกรุ๊ปอนุญาตให้ขายของได้ พยายามเลือกกรุ๊ปที่มีคนเยอะ ๆ หลักพันขึ้นไป หลักหมื่นหลักแสนหลักล้าน นั่นหมายถึงคุณกำลังกระโดดเข้าไปในห้องที่มีคนจำนวนมหาศาลอยู่ในนั้น และคนในห้องนั้นล้วนเป็นคนที่ชื่นชอบสินค้าและบริการเรื่องนั้น ๆ

เมื่อเข้าไปจอยแล้วก็สามารถไลฟ์ขายของได้ เหมือนคุณเดินเข้าไปในห้องที่มีคนจำนวนมากรออยู่ เข้าไปแล้วก็เริ่มประกาศ เริ่มไลฟ์ขายของ ไปยืนโชว์ให้คนเหล่านั้นดู สมมุติมีคน 2 หมื่น อาจมีสัก 100-200 คนสนใจมายืนมุงก็ได้ พอเขาสนใจกดคอนเฟิร์ม กดจ่ายเงินได้เลย เท่านี้ก็ขายของได้โดยแทบ
ไม่ต้องลงทุนลงแรง

ในช่วงการเริ่มต้นควรเริ่มแบบง่าย ๆ เมื่อขายได้ขายดีจึงค่อย ๆ เริ่มสะสมลูกค้า เช่น เมื่อลูกค้ากดสั่งซื้อก็แนะนำต่อว่ามี Facebook page ด้วย หรือให้แอด lLine เราจะเริ่มมีฐานลูกค้าสะสมไว้ จากกลุ่มนั้นก็ดึงเข้ามาใน social media ของเราเอง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, instagram

เมื่อคนเข้ามามากแล้วก็เริ่มทำการตลาดตรงไปหาคนกลุ่มเหล่านั้น และเมื่อคนเยอะพอแล้วก็ขยายไปสู่การขายในมาร์เก็ตเพลซ ไปเปิดร้านใน Lazada ใน Shopee เมื่อยืมจมูกคนอื่นหายใจพอแล้วก็เริ่มเปิดเว็บของตัวเอง โกยลูกค้าจาก social media ทั้งที่อยู่ใน market place เข้ามาในเว็บไซต์ของเรา

ซึ่งจะมีข้อมูล มีชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ลูกค้าไม่ต้องกดซื้อจากช่องทางข้างนอก แต่กดจากที่นี่ได้เลย ทุกอย่างจะง่ายมากขึ้น คอมมิสชั่นต่าง ๆ ก็จ่ายน้อยลง นี่คือสิ่งที่ผมอยากแนะนำให้คุณลองทำได้เลยครับในวันนี้