“ไทยคม” กลางมรสุม สัมปทานใกล้หมดแต่ปัญหาไม่จบ

อนันต์ แก้วร่วมวงศ์
อนันต์ แก้วร่วมวงศ์

เผชิญมรสุมลูกแล้วลูกเล่าสำหรับ “ไทยคม” ในจังหวะที่สัมปทานกำลังจะหมดอายุ ก.ย.ปีหน้า ล่าสุดกระทรวงดีอีเอสเรียกร้องให้บริษัทสร้างและส่งมอบดาวเทียมทดแทนไทยคม 5 หรือชดใช้ค่าเสียหายสูงถึง 7 พันล้านบาท ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ

เคลียร์ทุกประเด็นไทยคม 5

“อนันต์ แก้วร่วมวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการถูกต้องตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานครบถ้วน และไม่มีหน้าที่ต้องจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนไทยคม 5 ตามข้อเรียกร้องของกระทรวงดีอีเอส

“ไทยคม 5 ขัดข้องตั้งแต่ปลายปี 2562 เพราะอายุการใช้เกินกำหนด ทำให้ต้องปลดระวางต้นปี 2563 ส่วนข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนี้มาจากเงื่อนไขสัญญาที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งไม่มีกรอบรายละเอียด เน้นเฉพาะความต่อเนื่องทางวิศวกรรม ถ้าไทยคมทำตามสเป็ก ในเงื่อนไขที่สัญญาเดิมบอกก็เสมือนว่ากำลังให้บริการเทคโนโลยี 2G อยู่ทั้งที่ตอนนี้มี 5G แล้ว ซึ่งถ้ารัฐระบุว่า เราทำดาวเทียมผิดสเป็กก็ต้องไม่ยอมรับส่วนแบ่งรายได้ตั้งแต่แรก”

จ่ายส่วนแบ่งให้รัฐกว่า 1.3 หมื่น ล.

“อนันต์” ย้ำว่า ก่อนการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 บริษัทได้แจ้งให้กระทรวงดีอีเอสและ กสทช.รับทราบแล้วก่อนเริ่มดำเนินการปลดระวางในวันที่ 26 ก.พ. 2563 เพราะไทยคม 5 ใช้งานมาเกินอายุวิศวกรรมแล้ว พร้อมดำเนินการแก้ไข ด้วยการโอนย้ายผู้ใช้บริการไทยคม 5 ไปยังดาวเทียมดวงอื่น เพื่อให้การบริการมีความต่อเนื่อง และจ่ายส่วนแบ่งรายได้ของดาวเทียมทั้ง 6 ดวงรวมกันถึงปัจจุบันกว่า 13,792 ล้านบาท มากกว่าจำนวนขั้นต่ำตามที่รัฐกำหนดไว้ในสัญญาถึง 10 เท่า (มูลค่าขั้นต่ำที่ 1,415 ล้านบาท)

ปัจจุบัน ไทยคมยังเหลือดาวเทียมอีก 2 ดวง คือ ไทยคม 4 และไทยคม 6 ที่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้กับกระทรวงดีอีเอสแล้วโดยทั้ง 2 ดวงมีอายุวิศวกรรมเกินระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งกระทรวงดีอีเอสนำไปบริหารจัดการต่อไปได้

Advertisment

ทิศทางธุรกิจหลังหมดสัมปทาน

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจ “อนันต์” บอกว่า หลังสัมปทานไทยคม 4 จะหมดอายุลงใน ก.ย. 2564 บริษัทได้มีแผนการดำเนินที่ชัดเจนแล้ว และว่าในสิ้นปี 2564 ตนก็จะเกษียณอายุแล้วจึงมีภารกิจสำคัญ คือ การเคลียร์สัมปทานดาวเทียมให้เสร็จ

และว่าเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ CAT ตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อพัฒนาและให้บริการดาวเทียมรูปแบบใหม่ เป็นการขยายธุรกิจและเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม

ก่อนหน้านี้ “ปฐมภพ สุวรรณศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด บริษัทเดียวกัน พูดถึงการดำเนินธุรกิจของไทยคมจากนี้ว่าจะมี 3 ส่วน คือ 1.existing capacity ขาย capacity ส่วนที่เหลือ ซึ่งปัจจุบันในไทยขายหมดแล้ว เหลือในต่างประเทศ เช่น ดาวเทียมไทยคม 8 ในอินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาลอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาล่าช้าเพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงมีแผนขยายตลาดดาวเทียมแบบทั่วไป (conventional) ในกลุ่มประเทศ CLMV

2.ยังจะรุกธุรกิจและโครงการเกี่ยวกับความมั่นคงของภาครัฐ และ 3.อยู่ระหว่างการศึกษาดาวเทียมดวงใหม่ แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้

Advertisment

เปิดรายได้ 9 เดือน

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/2563 ไทยคมมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 918 ล้านบาท ลดลง 22.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,188 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากการให้บริการดาวเทียมทั้งดาวเทียมแบบทั่วไป และดาวเทียมบรอดแบนด์ลดลง และมีกำไร 77 ล้านบาท

ส่วนผลประกอบการ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 63) มีรายได้จากธุรกิจให้บริการดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวข้อง 2,750 ล้านบาท ลดลง 24.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 3,640 ล้านบาท