วงการเทคอย่าเพิ่งฝันหวาน “โจ ไบเดน” ไม่หมูอย่างที่คิด

ใครที่คิดว่าเมื่อเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีจาก โดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็น โจ ไบเดน แล้วอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะเป็นทุ่งลาเวนเดอร์ที่เหล่าบิ๊กเทคและยูนิคอร์นทั้งหลายจะเริงร่าอีกครั้งคงต้องคิดใหม่

แม้ไบเดนอาจคุ้นเคยสนิทสนมกับพี่เบิ้มในซิลิคอนวัลเลย์หลายราย ไม่ว่าจะเป็น เอริก ชมิดต์ อดีตซีอีโอกูเกิลที่ออกหน้าระดมทุนให้เต็มที่ หรือ ซินเทีย โฮแกน ที่ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารแอปเปิลมาช่วยไบเดนทำแคมเปญตลอด 1 ปีที่ผ่านมาแม้กระทั่งเชอรีล แซนด์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) Facebook ที่รีบคว้ามือถือมาทวีตข้อความอวยพรให้ไบเดน และกมลา แฮร์ริส แทบจะทันทีที่มีข่าวว่าทั้งสองชนะเลือกตั้ง

ปัญหาที่เป็นไฟสุมอกบิ๊กเทคช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือ สงครามการค้ากับจีนที่ทำให้หลายบริษัทสูญรายได้มหาศาล และการขยับของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission : FTC) คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐ (FCC) และกระทรวงยุติธรรม ที่เริ่มกระชับพื้นที่เตรียมดำเนินคดีกับบิ๊กเทคเรื่องผูกขาดตลาดและเป็นแหล่งผลิตและเผยแพร่เฟกนิวส์

นักวิเคราะห์เชื่อว่าทั้ง 2 นี้จะยังตามหลอกหลอนบิ๊กเทคต่อไปหลังไบเดนเข้ากุมบังเหียนในทำเนียบขาว

ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์กับจีน หลายคนอาจลืมไปว่าคนเปิดประเด็นว่า บริษัทเทคโนโลยีจีนอย่างหัวเว่ยอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐไม่ใช่ใครอื่น แต่คือรัฐบาลโอบามาแห่งพรรคเดโมแครตเพียงแต่เมื่อทรัมป์มารับไม้ต่อในปี 2016 ก็เล่นใหญ่จนบานปลาย

Advertisment

พอล กัลแลนต์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเทคและเทเลคอมจาก Cowen & Co. เชื่อว่าทั้ง 2 พรรคเห็นตรงกันว่าความทะเยอทะยานด้านเทคโนโลยีของจีนเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง จะหวังให้รัฐบาลสหรัฐกลับท่าทีที่มีต่อจีนแบบ 360 องศานั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน

ส่วนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต่อบรรดาบิ๊กเทคก็ไม่มีวี่แววว่าจะแผ่วลง

กฎหมายหลัก 2 ตัวที่เกี่ยวข้องกับบิ๊กเทคโดยตรง ได้แก่ กฎหมายต่อต้านการผูกขาด (antitrust law) กับ พ.ร.บ.สื่อสารมาตรา 230 ที่ให้สิทธิคุ้มครองโซเชียลแพลตฟอร์มไม่ต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ผู้ใช้งานโพสต์ขึ้นระบบ

เรื่องการผูกขาดตลาดนั้น จุดยืนของเดโมแครตชัดเจนมาตลอดว่าต้องการสะสางปัญหานี้อย่างจริงจัง ดูได้จากท่าทีของคณะกรรมาธิการที่นำโดยพรรคเดโมแครตที่สรุปผลการสืบสวนออกมาเมื่อไม่กี่เดือนก่อนว่า Google, Amazon, Apple และ Facebook มีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการใช้อำนาจเหนือตลาดกดดันคู่แข่ง ดังนั้นเชื่อได้ว่าไบเดนและคณะทำงานน่าจะรักษาจุดยืนนี้ต่อไปเมื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว

Advertisment

ส่วนเรื่องมาตรา 230 ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1996 เป็นมหากาพย์แห่งวงการเทคโนโลยีสหรัฐ เพราะทุกครั้งที่มีคนโวยวายเรื่อง hate speech หรือ fake news บนเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เหล่าบิ๊กเทคก็จะงัดมาตรา 230 ขึ้นมาเป็นยันต์คุ้มภัยทันที แต่วันนี้โซเชียลมีเดียไม่ใช่ชุมชนเล็ก ๆ เติบโตจนมีคนใช้งานกว่าพันล้านคนทั่วโลก ทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย

“ไบเดน” เคยพูดช่วงหาเสียงว่าบิ๊กเทคไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้อีกต่อไป จึงเป็นไปได้ว่าเขาจะผลักดันให้แก้ไขกฎหมายนี้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขในทิศทางใด เช่น ยกเลิกสิทธิคุ้มครองเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างเดียว หรือยกร่างใหม่หมด แต่ไม่ว่าจะทางไหนย่อมกระทบต่อเจ้าของแพลตฟอร์มแน่นอน

ถึงอย่างนั้น คนในวงการมองว่ายังไงไบเดนก็ดีกว่าทรัมป์ ผู้บริหารบางรายถึงกับบอก Financial Times ว่า อย่างน้อยก็ไม่ต้องตื่นมาด้วยความอกสั่นขวัญผวากับทวีตแปลก ๆ ของผู้นำประเทศอีกและเชื่อว่าไบเดนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายนโยบายของทรัมป์ เช่น ผ่อนคลายมาตรการการคัดกรองผู้อพยพและแรงงานต่างชาติที่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือดีในวงการเทค หรือผลักดันให้มีการขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ทั่วประเทศ

แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างทำเนียบขาวกับวงการเทคจะกลับมาแนบแน่นเหมือนสมัยโอบามาที่ผู้บริหารจากซิลิคอนวัลเลย์เข้าออกทำเนียบขาวเป็นว่าเล่น ซึ่งต้องไม่ลืมว่าตอนโอบามาชนะเลือกตั้งสมัยแรกบิ๊กเทคหลายรายยังเป็นแค่สตาร์ตอัพหน้าใหม่

เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์และจุดยืนก็ย่อมเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา สิ่งที่น่าจับตา คือ แล้วบรรดาบิ๊กเทคจะปรับตัวให้เข้ากับรัฐบาลและสิ่งแวดล้อมทางการเมืองใหม่อย่างไร