จับตาท่าที ‘โจ ไบเดน’ ยังไม่รีบยุติสงครามการค้า

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะแล้วเสร็จไปแบบไม่สะเด็ดน้ำ เพราะยังต้องรอผลการนับคะแนนใหม่ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ซึ่งต้องมีขึ้นโดยอัตโนมัติในกรณีที่คะแนนแพ้ชนะกันไม่เกิน 0.5% ของคะแนนรวมทั้งหมด และรอคอยการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายของ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งไม่ยอมประกาศยอมรับความพ่ายแพ้

แต่บรรดาเกจิทางการเมืองอเมริกันทั้งหลายก็ไม่เชื่อว่า การดำเนินการใด ๆ ของทรัมป์ รวมทั้งการนับคะแนนใหม่ในจอร์เจีย จะส่งผลเปลี่ยนแปลงใด ๆ ถึงขนาดทำให้ โจ ไบเดน ไม่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ได้

ในแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมอเมริกันก็มั่นใจถึงขนาด เริ่มต้นเรียกร้องว่าที่ประธานาธิบดี ให้ตัดสินใจเด็ดขาด ยุติสงครามการค้าของทรัมป์ และยกเลิกการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ทรัมป์เคยใช้เป็นเครื่องมือข่มขู่จีนไปโดยเร็ว

คำถามสำคัญในเวลานี้ก็คือ “โจ ไบเดน” มีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร ?

เอิร์ล บลูมนอยเออร์ ส.ส.รัฐโอเรกอน ที่เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการการหารายได้ทางการค้า และมีชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดตรัฐมนตรีชุดใหม่ของไบเดน ยืนยันว่า เรื่องของการเจรจาเพื่อทำความตกลงการค้ากับจีน “ไม่น่าจะอยู่ในวาระภารกิจที่ต้องทำใน 100 วันแรก” ของประธานาธิบดีไบเดน

กระนั้น นักวิเคราะห์หลายคนยังไม่ปักใจเชื่อเสียทีเดียว เพราะเชื่อว่า บรรดาพันธมิตรของไบเดนที่อยู่ในแวดวงการค้าและอุตสาหกรรมการผลิต ต้องออกมาเรียกร้องต่อว่าที่ประธานาธิบดี ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาใหม่ ให้เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า ไบเดนเองก็มี “วาระทางการค้า” ที่เป็นของตัวเองเช่นเดียวกัน อย่างเช่น การใช้ความตกลงการค้าเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าของพรรคเดโมแครตบางคนระบุว่า การที่ทีมไบเดนมุ่งจัดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในที่ทรุดตัวอย่างหนักจากวิกฤตโควิด ทำให้ยังไม่ปรากฏภาพชัดเจนว่า รัฐบาลไบเดนจะเอาอย่างไรกับการค้าระหว่างประเทศกันแน่

ระหว่างการหวนกลับไปสู่ “วาระการค้าเสรี” ที่เคยใช้และประสบผลสำเร็จในยุคของประธานาธิบดี “บิลล์ คลินตัน” และประธานาธิบดี “บารัก โอบามา” กับการเพิ่ม “ส่วนที่เป็นปัจจัยก้าวหน้า” เข้าไปในการค้าเสรี เช่น เงื่อนไขในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และค่าแรงกรรมกร ที่ควรเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น

เบ็ธ บอลท์แซน อดีตนักกฎหมายการค้า ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎรอเมริกัน ยืนยันว่า “ศึกทางความคิด” ที่ว่านี้ยังดำเนินอยู่ในเวลานี้

แต่ในเวลาเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์หลายคนแย้งด้วยว่า แค่การระงับใช้การขึ้นภาษีศุลกากรบางรายการในสงครามการค้าของทรัมป์ จะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจภายในของสหรัฐอเมริกาเอง เช่น ทำให้เกิดการจ้างงานในโรงงานการผลิตมากขึ้น ในขณะที่เกิดการว่างงานขึ้นมากมายในประเทศในเวลานี้

โดยเฉพาะในส่วนของพิกัดอัตราภาษีศุลกากรในสงครามการค้าของทรัมป์ ที่ไบเดนเองเคยระบุไว้ว่า ก่อให้เกิดความเสียหายถึงระดับ “หายนะ” กับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งจะเป็นการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมการผลิตในประเทศที่เห็นผลเร็ว พร้อมกันนั้นก็จะเป็นการลดราคาสินค้านำเข้าที่ผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าลงได้ทันตาเห็น รวมทั้งยังอาจช่วยเปิดตลาดส่งออกที่เคยปิดตายเพราะสงครามการค้าให้กับผู้ส่งออกอเมริกันเองอีกด้วย

ไมเคิล ฮิคส์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอลล์สเตต เชื่อว่า หากฝ่ายบริหารชุดใหม่สามารถยุติสงครามการค้าได้ หรืออย่างน้อยก็ยกเลิกการขึ้นภาษีนำเข้าซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกการเรียกเก็บภาษีสำหรับคนอเมริกันที่ซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ ก็จะเกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตครั้งใหญ่ขึ้นในสหรัฐ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดให้สูงขึ้นและเร็วขึ้นอีกด้วย

ตรงกันข้าม ฮิคส์ชี้ว่า หากสงครามการค้ายังคงดำเนินต่อไป ภาวะจ้างงานจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นไปอยู่ในระดับที่เคยอยู่ตอนปลายสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา แน่นอน

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกตรงกันว่า ไบเดนสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ทันทีที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ก็ไม่มีใครกล้ายืนยันชัดว่า ทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น เหตุผลก็คือเรื่อง “สงครามการค้า” และการเจรจาเพื่อทำความตกลงการค้าใหม่กับจีนนั้น เกี่ยวพันกับหลายกลุ่มมาก และอาจเกิดความต้องการ ขัดแย้งกันในตัวระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งมีตั้งแต่บริษัทธุรกิจ, สหภาพแรงงาน, เกษตรกรและชาติพันธมิตร เป็นต้น

ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ไบเดนอาจทิ้งการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรของทรัมป์เอาไว้อย่างนั้นเป็นเวลานานหลายเดือน หรือแม้แต่เป็นปีก็เป็นไปได้ จนกว่าจะหาหนทางที่เหมาะสมทางการเมืองเพื่อนำตัวเองให้หลุดรอดจากวังวนที่ทรัมป์ทิ้งเอาไว้นั่นเอง