“ฟู้ดแพนด้า” มากกว่าฟู้ดดีลิเวอรี่ ชี้ ค่า GP สะท้อนต้นทุนจริง

สงครามฟู้ดดีลิเวอรี่ยังไม่จบ “ฟู้ดแพนด้า” ประกาศเปิดเกมรบ ลุยบริการ 77 จังหวัดเจ้าแรกในไทย เจาะตลาดต่างจังหวัด ช่วยร้านเล็ก ขยายบริการส่งสินค้าทุกอย่าง ส่วนค่า GP ที่เก็บสูง เพราะนำไปพัฒนาแพลตฟอร์ม

“อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง “ฟู้ดแพนด้า” เปิดเผยว่า ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ไทยยังโตต่อเนื่อง โดยปี 2561-2562โต 8-9 เท่า ส่วนปี2563 แม้ยอดทรานแซ็กชั่นสูงถึง 1.5 ล้านครั้งต่อวัน แต่ตลาดโตเพียง 7 เท่า น้อยกว่าปีก่อนจากพิษโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารบางส่วนต้องปิดตัว แต่ยังได้อานิสงส์จากโครงการคนละครึ่งที่กระตุ้นให้ร้านค้ามีรายได้

ทั้งนี้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่ในไทยยังกระจุกตัวเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มีสัดส่วนประชากรเพียง 10 ล้านคน เทียบประชากร70 ล้านคน ดังนั้นตลาดต่างจังหวัดจึงเป็นตลาดใหญ่ที่ท้าทายเพราะคนคุ้นกับการซื้อหน้าร้าน สิ่งสำคัญ คือการสร้างการรับรู้ถึงความสะดวกด้วยโปรโมชั่นและการจัดอีเวนต์

“ฟู้ดแพนด้า” เดินหน้าขยายพื้นที่บริการ จากปีก่อนมี 27 จังหวัด และปัจจุบันเพิ่มเป็น 77 จังหวัด มีร้านค้าในระบบกว่า 1.2 แสนร้าน เพิ่มขึ้น 7 หมื่นร้านใน 1 ปี มีผู้ไรเดอร์กว่า 1 แสนรายใช้เวลาจัดส่งเฉลี่ย 19.9 นาทีต่อ 1 ออร์เดอร์ เร็วขึ้นกว่าปีก่อนที่ใช้เวลา 25 นาที ถือเป็นแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ที่จัดส่งเร็วที่สุดในขณะนี้

แม้ไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการยอดเติบโตเท่าไหร่ แต่มีโจทย์สำคัญ คือการเข้าถึงร้านค้า ลูกค้า เพิ่มไรเดอร์ให้มากที่สุด และขยายพื้นที่บริการไปนอกตัวเมือง รวมถึงพัฒนาบริการให้ดีขึ้น เพื่อขึ้นเป็นแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่เบอร์ 1 ในไทย

“ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้ออาหารจากร้านรายเล็กมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน และไม่ได้สั่งอาหารจากเชนเรสเตอรองต์ทุกมื้อดังนั้นกลยุทธ์บุกตลาดจึงชัดเจน คือ เจาะกลุ่มร้านรายเล็กระดับท้องถิ่น ที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 90% เชนรายใหญ่ 10%”

“เฟลเดอร์” ยอมรับว่าค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม หรือ“จีพี” ที่ผู้ให้บริการแต่ละแพลตฟอร์มเรียกเก็บเป็นอัตราที่สูงจริง แต่ถือว่าเหมาะสม หากยอดสั่งซื้อต่ำก็จะเก็บในอัตราที่ต่ำ แต่ถ้ายอดสั่งซื้อสูงก็จะเรียกเก็บอัตราที่สูง ซึ่งฟู้ดแพนด้ายังช่วยทำตลาดออนไลน์เพื่อดันยอดขายบนแพลตฟอร์มให้เพิ่มขึ้น

“เงินจากค่า GP นำมาเป็นทุนพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับผู้บริโภคให้มีประสบการณ์การใช้ที่ดีขึ้น เช่นเทคโนโลยี AI มาใช้กับระบบรับออร์เดอร์และจัดส่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่แรก และจะพัฒนาต่อไป

ไม่ใช่เท่านั้น ยังต้องการเป็นมากกว่า “ฟู้ดดีลิเวอรี่” คือต้องการเป็นแพลตฟอร์มที่ “ส่งสินค้าทุกอย่างทุกที่ทุกเวลา” จึงขยายบริการใหม่ด้วยการเปิดร้านสะดวกซื้อออนไลน์“PandaMart” ให้บริการในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และจะขยายไปยังตามภูมิภาคต่าง ๆ ในปี’64”