Leaf Wearables จี้กันภัย

คอลัมน์ สตาร์ทอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน” โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

วันที่ 16 ธันวาคม 2012 สาวนักเรียนหมอชาวอินเดียวัย 23 ปี ออกไปดูหนังกับเพื่อนหนุ่ม หลังหนังเลิก ทั้งสองก็ออกมาโบกแท็กซี่เพื่อกลับที่พัก แต่ไม่มีรถคันไหนยอมไปโดยเกี่ยงว่าไกล หญิงสาวกับเพื่อนจึงตัดสินใจขึ้นรถเมล์ที่จอดรอที่ป้ายใกล้ ๆ แทน บนรถมีชาย 6 คน 5 คนเป็นผู้โดยสาร และอีกหนึ่งคนคือคนขับ หลังรถเคลื่อนตัวออกจากป้ายไม่นาน ชายทั้ง 5 คน รุมซ้อมเพื่อนชายของเธอ ก่อนลากเธอไปหลังรถแล้วผลัดกันข่มขืนอย่างทารุณ ขณะที่คนขับเป็นใจ ขับรถวนรอบเมืองนิวเดลีกว่าหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้คนร้ายเรียงคิวข่มขืนเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อหนำใจแล้ว พวกมันก็โยนเธอและเพื่อนหนุ่มลงข้างทางก่อนขับรถหนีไป

เหยื่อทั้งสองนอนจมกองเลือดอยู่พักใหญ่ กว่าจะมีรถตำรวจผ่านมาเหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นข่าวครึกโครมสะเทือนขวัญในอินเดีย ผู้คนจำนวนมากออกมาเดินประท้วงความอ่อนแอของกฎหมาย และความไร้ประสิทธิภาพของตำรวจ จากสถิติทุก ๆ 20 นาที จะมีผู้หญิงหนึ่งคนโดนล่วงละเมิดทางเพศในอินเดีย

แม้ผู้หญิงจะระมัดระวังตัวมากที่สุดแล้วก็ยังไม่สามารถหนีรอดการกระทำที่รุนแรงนี้ได้ เหตุการณ์นี้ช่วยจุดประกายให้หลายกลุ่มหันมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ เด็กหนุ่มวิศวะ 5 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในอินเดีย ที่มีความคิดว่าพวกเขาควรประดิษฐ์เครื่องมืออะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้ผู้หญิงมีความปลอดภัยมากขึ้น (ผู้ชายไม่ได้เลวทุกคนนะคะ)

โจทย์ที่สำคัญคือ เครื่องมือนี้ต้องสะดวกต่อการพกพา และใช้งานง่ายสำหรับผู้หญิง

Advertisment

ปลายปี 2015 พวกเขาตั้งบริษัทชื่อว่า Leaf Wearables เพื่อผลิตอุปกรณ์ป้องกันตัวสำหรับสาว ๆ ในรูปแบบของจี้ห้อยคอพร้อมสร้อย ที่ดูสวยงามน่าสวมใส่

โดยตรงกลางจี้จะซ่อนอุปกรณ์ที่เรียกว่า SAFER ซึ่งเชื่อมต่อกับสัญญาณโทรศัพท์มือถือผ่านบลูทูท เมื่อตกอยู่ในอันตรายเพียงกดปุ่ม ระบบจะแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชั่นไปยังกลุ่มคนที่ผู้ใช้กำหนดเอาไว้ ซึ่งอาจจะเป็นครอบครัว เพื่อน สถานีตำรวจ หรือหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินอื่น ๆ หากอยู่ในที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ระบบจะเปลี่ยนเป็นส่งข้อความ SMS แทน เพราะเครื่องประดับและโทรศัพท์มือถือเป็นสองสิ่งที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ในอินเดียมักมีติดตัวเสมอ การออกแบบอุปกรณ์ให้เป็นเครื่องประดับที่เชื่อมต่อกับมือถือ จึงทำให้สะดวกต่อการสวมใส่และการใช้งานในชีวิตประจำวัน

นอกจากจะสามารถส่งข้อความแล้ว อุปกรณ์นี้ยังเชื่อมต่อกับระบบ GPS ทำให้สามารถค้นหาตำแหน่งของผู้สวมใส่ได้ตลอด อีกทั้งยังมาพร้อมปุ่มกดเสียงที่มีระดับความดังถึง 92 เดซิเบล เพื่อเรียกความสนใจของคนละแวกใกล้เคียง และอาจทำให้คนร้ายตกใจได้ในระดับหนึ่ง

ข้อดีอีกอย่างคือ อุปกรณ์นี้ใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่แค่ 15 นาที ก็อยู่ได้ถึง 7 วัน ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลว่าแบตจะหมดบริษัทสตาร์ตอัพเล็ก ๆ นี้ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบสุดยอดนวัตกรรมของกรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดีย และเพิ่งได้เงินทุนมา 250,000 เหรียญ ในปีที่ผ่านมา

Advertisment

ถึงแม้จะไม่สามารถใช้แทนอาวุธได้ แต่การได้พกอุปกรณ์นี้ติดตัวก็คงพอช่วยให้อุ่นใจได้บ้าง อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย จริงมั้ยคะ

 

 

แฟ้มภาพไม่เกี่ยวกับข่าว