“ทีวีดิจิทัล” พลิกตำราหาทางรอด ชงรัฐลดภาระ MUX-เวนคืนคลื่น

ยังคงเดินหน้าหาทางออกอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัล แม้จะเคยเข้าพบรองนายกรัฐมนตรี “วิษณุ เครืองาม” เพื่อให้ช่วยหาทางอยู่รอดของช่องทีวีดิจิทัลที่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักมาแล้วหลายครั้ง หลังจากทั้ง 24 ช่องธุรกิจต่างแข่งกันเคาะราคาดุเดือด จบประมูลด้วยเงินรวมกันกว่า 5 หมื่นล้านบาท เมื่อ ธ.ค. 2556 แต่ยังไม่ทันจ่ายค่าประมูลของปีที่ 2 ก็จอดำไปแล้ว 2 ช่อง วันนี้เหลืออยู่รอดแค่ 22 ช่อง และเกือบทั้งหมดขาดทุนยับ

จนเป็นที่มาของคำสั่ง คสช.ที่ 76/2559 ให้ยืดเวลาชำระเงินประมูลช่อง (มีดอกเบี้ย) และให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ มาใช้สนับสนุนค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมสำหรับนำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศผ่านระบบทีวีดาวเทียม แต่ทางออกที่ผู้ประกอบการหลายรายต้องการคือ “การคืนใบอนุญาตได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าประมูลในส่วนที่เหลือ” ยังไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ โดยเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์”

กล่าวย้ำทุกครั้งที่มีการเรียกร้องให้ช่วยเหลือช่องทีวีดิจิทัลว่า “อะไรที่ กสทช.มีอำนาจทำได้ เราทำให้หมดแล้ว ที่เหลือคือกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ ต้องแล้วแต่นโยบายรัฐบาล”

ชงรัฐเวนคืนไปประมูล 4G-5G

ล่าสุด สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) ได้มีข้อเสนอใหม่ และเริ่มเดินสายเข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เริ่มจากรองนายกรัฐมนตรี “วิษณุ เครืองาม” ที่ทำเนียบรัฐบาล และ “จิรชัย มูลทองโร่ย” ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สาระสำคัญของ “ข้อเสนอในเชิงนโยบายเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรทัศน์ และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่ออนาคตประเทศไทย 4.0”

“สุภาพ คลี่ขจาย” นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า คือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรทัศน์และโทรคมนาคม ด้วยให้ กสทช.เรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ที่ปัจจุบันใช้สำหรับทีวีดิจิทัล นำกลับไปจัดสรรใหม่สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ให้เร็วขึ้นกว่าแผนที่ กสทช.วางกรอบไว้ว่าจะดำเนินการในปี 2563 ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับประเทศอาเซียน และ ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกใช้คลื่น 700 MHz สำหรับกิจการโทรคมนาคม และเป็นคลื่นที่มีมูลค่าสูง หากนำมาประมูลจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้มหาศาล

“หลังจากประมูลช่องทีวีดิจิทัลเมื่อปี 2556 มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากของเทคโนโลยีที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การจะเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลอย่างเดิม ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว กสทช.น่าจะปรับแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 ที่กำลังยกร่าง โดยปรับแผนเดิมที่จะกันคลื่นไว้สำหรับทีวีดิจิทัลถึง 48 ช่องให้ลดลง เพราะตอนนี้ก็เห็นแล้วว่า มันมีช่องมากเกินไป เพื่อให้รัฐเวนคืนคลื่นไปประมูลใหม่สำหรับโทรคมนาคม เป็นการใช้คลื่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และกฎหมายใหม่ก็เปิดช่องให้ กสทช.เรียกคืนคลื่นก่อนกำหนดได้ ส่วนเมื่อรีฟาร์มมิ่งคลื่นแล้วจะเหลือทีวีดิจิทัลกี่ช่อง เป็นประเด็นที่ กสทช.จะศึกษา”

ที่ผ่านมาช่องทีวีดิจิทัลได้จ่ายเงินค่าประมูลให้ กสทช.ไปแล้วราว 3.4 หมื่นล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่รัฐตั้งราคาขั้นต้นในการประมูลไว้ 1.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ขณะที่หากภาครัฐไม่มีการช่วยเหลืออะไรเพิ่ม ในอนาคตผู้ประกอบการก็อาจจะล่มสลายทั้งอุตสาหกรรม และรัฐจะไม่ได้อะไรเลย

“สถานการณ์หลังการประมูล เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (technology disruption) ที่ทำให้คนดูทีวีในรูปแบบเดิมน้อยลง มีสื่อใหม่อย่างไลน์ทีวี เฟซบุ๊กไลฟ์ ซึ่งมีฐานผู้ใช้งานจำนวนมาก เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เข้ามากระทบสื่อเดิม และเป็นการให้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตหรือเงินประมูลใด ๆ”

อีกด้านที่เห็นชัดคือ ตั้งแต่เกิดมีทีวีดิจิทัลขึ้น ข้อมูลของสมาคมมีเดียเอเยนซี่โฆษณาแห่งประเทศไทย ระบุว่า เม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีที่เคยเติบโตอย่างน้อย 5-10% กลับลดลงเฉลี่ย 8-16%

งดออกไลเซนส์ช่องสาธารณะ

ด้าน “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” ที่ปรึกษาสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า การประสบภาวะขาดทุนนี้ ทำให้เริ่มเห็นธุรกิจยักษ์ใหญ่เข้าซื้อช่องทีวีดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงที่จะนำไปสู่การผูกขาดแบบเดิมที่มีกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพียง 5-6 ราย สิทธิในการรับรู้ของประชาชนก็จะเกิดการกระจุกตัวของเนื้อหาเหมือนเดิม โดยคาดว่าหากไม่มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจะมีผู้ประกอบการกว่า 95% ขาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่มีเงินใช้ผลิตคอนเทนต์ที่ดี รวมถึงส่งผลกระทบต่อการจ่ายค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ด้วย หรืออาจจะเลือกคืนใบอนุญาตโดยขอความคุ้มครองจากศาลปกครองเหมือนกรณี 2 ช่องของบริษัทไทยทีวี ที่คดียังอยู่ในศาล ซึ่งทำให้คลื่นความถี่ที่ช่องดังกล่าวใช้งานจะกลายเป็นที่รกร้าง ไม่สามารถใช้งานได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ถือเป็นการสูญเสียโอกาสในการใช้งานคลื่นความถี่ ทั้งยังจะกระทบกับสถาบันการเงินที่เป็นผู้ออกแบงก์การันตีให้ผู้ประกอบการช่อง ที่ต้องเสี่ยงกับภาวะหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งจะกระทบกับเสถียรภาพทางการเงินของสถาบันทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

“สมาคมอยากให้ผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลทุกราย รอดไปด้วยกัน จึงอยากให้ช่วยลดภาระทางการเงินสำคัญของผู้ประกอบการก้อนใหญ่สุดคือ ค่าเช่า MUX ซึ่ง กสทช.เคยสัญญาไว้ว่าจะทบทวนใหม่ทุก 4 ปี แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ”

ขณะที่แผนเดิมของ กสทช.ที่จะมีทีวีดิจิทัล 48 ช่อง ควรให้มีคณะทำงานพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางที่จะลดจำนวนช่องทีวีดิจิทัลภาคธุรกิจลง 1 ใน 3 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจ งดการออกไลเซนส์ช่องบริการสาธารณะเพิ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณรัฐ และจำกัดการใช้คลื่นความถี่ให้เหลือแค่ช่วง 500-600 MHz และเวนคืนคลื่นที่เหลือในช่วง 600-700 MHz ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่ากิจการโทรทัศน์

ช่องรายได้พุ่งไม่รวมยื่นข้อเสนอ

เป็นที่น่าสังเกตว่า การยื่นข้อเสนอใหม่นี้ มีกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เข้ายื่นข้อเสนอนี้มี 13 ช่องรายการ โดยไม่มีรายชื่อของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด “ช่อง 7HD” ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา มีรายได้มากที่สุด 2,576 ล้านบาท และเป็นช่องที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2558 มากที่สุดถึง 907 ล้านบาท รวมถึงบริษัท ไทยบรอดคาสติ้ง จำกัด ช่อง “Workpoint” ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีรายได้ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ทั้งแง่ของรายได้รวม 2,121 ล้านบาท และยอดรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 422 ล้านบาท รวมถึง 2 ช่องที่มีรายได้ติด 5 อันดับแรกอย่าง “ช่อง 8” ของบริษัท อาร์เอส เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง MONO29 ของบริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด และ 2 บริษัทผู้ประกอบการรายเดิมอย่างบริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด เจ้าของช่อง 13 Family ช่อง 3SD และช่อง 33HD รวมถึง บมจ.อสมท เจ้าของช่อง MCOT Family และ MCOT HD ด้วย