ดีป้าย้ำร.พ.ขาดดาต้ากลาง-คนไอทีโรงเรียนไม่พอ

“ดีป้า” สำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโรงเรียนทั่วประทศ “ครู-นักเรียน” เข้าถึงเน็ต แต่ “บุคลากรไอที-คอมพิวเตอร์” ไม่พอ ฟากอุตสาหกรรมบริการสุขภาพต้องการระบบฐานข้อมูลกลางช่วยบริหารจัดการทรัพยากร

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์ และบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ผลสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการศึกษา ประจำปี 2559 ได้สำรวจครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัด กทม. และ สพฐ. 923 แห่งทั่วประเทศ พบว่า โรงเรียน 99% มีอินเทอร์เน็ตใช้และพึงพอใจในความเร็ว 35% อีก 65% ไม่พอใจความเร็ว โดยครูทุกคนเข้าถึงอุปกรณ์ไอทีได้หลากหลาย ขณะที่นักเรียน 39% มีสมาร์ทโฟนใช้เกินครึ่งห้อง 83% ไม่มีโน้ตบุ๊ก และมีโรงเรียน 55% ไม่มีบุคลากรคอมพิวเตอร์ อีก 45% มีบุคลากรคอมพิวเตอร์เพียง 1-2 คน

โดยครูส่วนใหญ่ประเมินความสามารถด้านดิจิทัลของตนเองในระดับค่อนข้างดี แต่การอบรมยังน้อยเฉลี่ย 1-2 ครั้ง ส่วนความพร้อมในการใช้สื่อดิจิทัลพบว่าครูใช้สื่อดิจิทัลถึง 50% ของคาบเรียนทั้งหมด และครู 55% สร้างสื่อดิจิทัลเอง และแบ่งปันให้ครูคนอื่นในโรงเรียน 57% แบ่งปันบนยูทูบ 5% และไม่เคยสร้าง 31%

“อินฟราสตรักเจอร์มีเพียงพอ นักเรียนมีสมาร์ทโฟนใช้ แต่ขาดแคลนคอมพิวเตอร์อาจต้องมีเครื่องให้ทดลองใช้หรือยืมเรียน ส่วนครูขาดการอบรมสม่ำเสมอ ควรส่งเสริมให้มีการอบรมออนไลน์ ควรมีการพัฒนาระบบคลังเพื่อแบ่งปัน แต่ปัญหาใหญ่คือ โรงเรียนขาดแคลนบุคลากรด้านไอที”

นอกจากนี้ยังสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ ในโรงพยาบาล 809 แห่ง เน้นใช้ซอฟต์แวร์ และส่งผ่านข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ ทั้งพบว่าการแชร์ข้อมูลในแต่ละส่วนต้องใช้ชุดข้อมูลหลายชุด ดังนั้นสิ่งที่ต้องการคือ สร้างระบบฐานข้อมูลกลางช่วยบริหารจัดการทรัพยากร ช่วยลดข้อผิดพลาด เข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น กว่า 90% ของโรงพยาบาลทุกขนาดเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และกว่า 70% พร้อมและซอฟต์แวร์สาธารณสุขใน 3-5 ปีข้างหน้าพบว่ามีบริการโดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อผู้ป่วยเคลื่อนที่น้อยที่สุด เช่น ใช้แอปจองคิว เป็นต้น

ดร.กษิติธรกล่าวต่อว่า ด้านการศึกษาดีป้าช่วยสนับสนุนดิจิทัลคอนเทนต์ เน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ส่วนการพัฒนาบุคลากรที่เป็นพันธกิจหลักจากนี้ไปจะเน้นครูมากขึ้น โดยจะนำเอาผลการศึกษาไปหารือเพื่อหาทางปรับปรุงส่วนเรื่องเฮลท์แคร์ มีโครงการส่งเสริมระบบระเบียบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ที่มุ่งเน้นการดำเนินการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบปฏิบัติการโรงพยาบาล