“ดีป้า” แก้จุดอ่อนสตาร์ตอัพ เร่งเปิดทางเข้าถึงแหล่งทุน

การลงทุน-กองทุน-เงิน

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาส 4/2563 ทรงตัว ดีป้าคาดปี’64 ปรับตัวดีขึ้น แต่ “ต้นทุน” พุ่ง จากแข่งดุโควิด-19 เร่งธุรกิจปรับตัวรายกลาง-เล็กเสียเปรียบเล็งเพิ่มโอกาส “สตาร์ตอัพ” เข้าถึงแหล่งทุน

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเผชิญกับเศรษฐกิจที่เปราะบางจากวิกฤตโควิด-19 และพึ่งพาการส่งออกมาก ทั้งขับเคลื่อนการลงทุนจากต่างประเทศ

และนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศ โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอาหาร, สิ่งทอ, อิเล็กทรอนิกส์, ออโตโมทีฟ (รถยนต์) และเครื่องจักรในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจเข้าสู่ “ดิจิทัล” ด้วยการใช้ดาต้าและแมชีนเลิร์นนิ่ง กลุ่มที่ปรับสู่ดิจิทัลได้ก่อน

คือ ธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนกลางและเล็กขาดความพร้อมทั้งเทคโนโลยี และคนทีมีความรู้ดิจิทัล จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมดิจิทัล หรือ Digital Industry Sentiment Index ไตรมาส 4/ 2563 พบว่าอยู่ในภาวะทรงตัวที่ 49.9 เป็นระดับต่ำ เพราะไม่เชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยมีการสำรวจระดับความเชื่อมั่นด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความเชื่อมั่นจากผลตอบแทนในการประกอบการ พบว่าอยู่ในระดับ 46.6 เพิ่มจากไตรมาส 3 ที่ 40.2 แม้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เชื่อมั่น ส่วนความเชื่อมั่นต่อการผลิตสินค้า และบริการอยู่ที่ 48.1 จากไตรมาส 3 ที่ 45.9 แต่ยังขาดความเชื่อมั่นว่าภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลจะมีศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการได้ต่อเนื่อง

ด้านการจ้างงาน ที่ 51.1 ลดจากไตรมาส 3 ที่อยู่ที่ 52.2 แม้มีความหวังจากนโยบายรัฐที่ส่งเสริมคนรุ่นใหม่มีความรู้บิ๊กดาต้า และแมชีนเลิร์นนิ่ง แต่สายงานนี้แข่งขันสูง ทำให้ตัวเลขลดลง

ด้านศักยภาพการลงทุนในไตรมาส 4 พุ่งขึ้นที่ 56.9 เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ จากไตรมาส 3 ที่อยู่ที่ 53.0 เนื่องจากเห็นโอกาสในการพัฒนาสินค้า และบริการ แต่ต้นทุนการผลิต ลดเหลือ 44.3 จากไตรมาส 3 ที่อยู่ที่ 59.0 เพราะกังวลเรื่องการแข่งขันที่ผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศมักเล่นสงครามราคา ส่วนโอกาสพบคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.7 สอดคล้องกับผลตอบแทนและปริมาณการผลิตสินค้าและบริการ

สำหรับไตรมาส 1/2564 ดัชนีรวมจะอยู่ในระดับ 53.7 จากโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลปรับตัวได้ และเห็นโอกาสพัฒนาธุรกิจ ด้านความเชื่อมั่นจากผลตอบแทนเพิ่มเป็น 55.7

ด้านความเชื่อมั่นต่อการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มเป็น 56.9 ด้านการจ้างงาน 53.4 ด้านศักยภาพการลงทุนเพื่อประกอบการพัฒนาตามผลตอบแทน และยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นที่ 57.7 ด้านต้นทุนการผลิตตกลงเหลือ 37.8

ดร.ณัฐพลกล่าวว่า สิ่งที่ดีป้ากำลังทำ คือทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยและสตาร์ตอัพที่ไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอต่อการเข้าถึงเงินทุนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศมีโอกาสร่วมทุนกันเพื่อขยายตลาด