หุ่นยนต์ แชทบอท นำทีม เทรนด์เทคโนโลยีมาแรง ปี’64

เอไอ หุ่นยนต์ เทคโนโลยี

เทเลนอร์ เผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรง ปี 2564 หุ่นยนต์-แชทบอท นำทีม ช่วยคนคลายเหงา คาดเวิร์กฟรอมโฮมอยู่ต่อ แนะตั้งพาสเวิร์ดไม่ให้ซ้ำทุกแพลตฟอร์ม ป้องกันแฮกเกอร์ ชี้โควิดทำเด็กถูกตัดขาดจากการศึกษาทั่วโลก 1.6 พันล้านคน

นายบียอน ทาล แซนเบิร์ก หัวหน้าศูนย์วิจัยเทเลเนอร์ หน่วยงานวิจัยภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยเทเลเนอร์ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI และ 5G ในปี 2563 เพื่อนำมาวิเคราะห์เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งพบว่าทุกเทรนด์ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมี 5G เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ

เทรนด์ที่ 1 หุ่นยนต์และแชทบอท จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยกว่า 40% ต้องอยู่ในภาวะเหงา เนื่องจากมีมาตรการล็อกดาวน์ เวิร์กฟรอมโฮม และอยู่คนเดียวมากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยคลายเหงาให้มนุษย์ เช่น หุ่นยนต์แมวน้ำ “พาโร” และ หุ่นยนต์ AI เสมือนมนุษย์ “โซเฟีย” ที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ และสามารถอ่านสีหน้า ลักษณะท่าทางของมนุษย์ได้ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงโควิด-19 และกำลังจะทำการผลิตเพื่อจำหน่ายในท้องตลาดเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ที่ให้ภาพเสมือนจริงก็ถูกนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการผสมผสานเทคโนโลยี 5G เข้าไป ส่วนแชทบอทก็ถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้น สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเหมือนจริง ทำให้ใช้งานแล้วรู้สกสบายใจขึ้น

เทรนด์ที่ 2 กรีนเทคโนโลยี โควิด-19 ทำให้ทุกคนหันมาใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการสื่อสารมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องเดินทาง มลภาวะต่าง ๆ จึงน้อยลง คาดว่าหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลงทั่วโลกจะหันมาใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยขณะนี้ที่สหภาพยุโรปได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนากรีนเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ซึ่ง AI จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น

ทั้งช่วยควบคุมการผลิตพลังงานทดแทน และใช้ในวงการเกษตร อาทิ ใช้โดรนยิงลูกดอกที่มีเซ็นเซอร์เพื่อหาอายุของต้นไม้ หรือใช้หุ่นยนต์แมชชีนพ่นยาฆ่าเชื้อราเฉพาะจุด ทำให้ใช้ยาฆ่าแมลงน้อยลง ใช้น้ำน้อยลง อีกทั้งยังสามารถำจัดวัชพืช และเก็บผลผลิตได้ ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ในลักษณะนี้ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้รถแทรคเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยลดปัญหาการบีบอัดหน้าดินที่เป็นต้นเหตุให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ที่ทำให้เกิดภาสะโลกร้อน

เทรนด์ที่ 3 ภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น หนึ่งคนมีหลายแอปพลิเคชั่น และหลายแอคเคาทน์ การตั้งรหัสผ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรตั้งรหัสเดียวกันบนทุกแพลตฟอร์ม เพราะเมื่อแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งถูกแฮกแล้ว แฮกเกอร์จะสามารถดึงข้อมูลจากแพลตฟอร์มที่เหลือได้

นายบียอน แนะนำว่า องค์กรต่างควรจะต้องมีการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อให้พนักงานจดจำรหัสผ่านได้ง่าย ๆ และช่วยปกป้องข้อมูลของพนักงานจากบรรดาแฮกเกอร์ในเวลาเดียวกัน อย่างในเอเชียก็มีซูเปอร์แอปที่รวมบริการดิจิทัลหลายอย่างไว้ในที่เดียว ใส่รหัสผ่านครั้งเดียวเพื่อเข้าใช้งาน ซึ่งช่วยลดปัญหาการจดจำรหัสผ่านไม่ได้ ในส่วนของพนักงานหากกังวลว่าจะจำรหัสผ่านไม่ได้ ควรจดไว้ในกระดาษและเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย เพราะแฮกเกอร์จะไม่สามารถแฮกกระดาษได้

เทรนด์ที่ 4 การทำงานจากระยะไกล ซึ่งยังคงเป็นเทรนด์ที่คาดว่าจะมีต่อไปเรื่อย ๆ แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลง โดยคนที่ทำงานจากระยะไกลส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีพื้นฐานทางการศึกษา มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และทำงานในองค์กรที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจะยังคงต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน เพราะการทำงานจากระยะไกลทำให้สามารถจัดการชีวิตได้ดีขึ้น สามารถคำนวนเวลาในการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติดได้ ดังนั้นองค์กรจึงต้องเพิ่มระบบรักษาควมปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แน่นนหนาขึ้น ยกตัวอย่าง ประเทศกรีซ ที่สนับสนุนการทำงานจากระยะไกล ประกาศลดภาษีรายได้สำหรับชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศ 50% เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาในประเทศมากขึ้น

เทรนด์ที่ 5 เทคโนโลยีด้านการศึกษา พบว่าตัวเลขของเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาทั่วโลกลดลงเรื่อย ๆ โดยปี 2560 มีเพียง 17% เท่านั้น จากเดิมที่ปี 2543 มีถึง 26% ขณะเดียวกันในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมากลบพบว่า ตัวเลขนี้กลับเพิ่มสูงขึ้น มีเด็กกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลกไม่ได้รับการศึกษา แม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูงก็พบว่ามีเพียง 87% เท่านั้น ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำพบว่ามีเพียง 6% เท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้ที่เหลือถูกตัดขาดจากการศึกษาไปโดย

“หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังอยู่ต่อไปอีก 1 ปี คาดว่าจะส่งผลกระทบกับคนรุ่นหลังหลายเจเนอเรชั่น ทำให้มีเด็กต้องหายยไปจากระบบการศึกษาอีกจำนวนมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแก้ไขได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ให้เด็กทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล”

นายบียอน กล่าวอีกว่า บทบาทของผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกหลังยุคโควิด-19 จะต้องดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับผู้ใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับดาต้าที่มีปริมาณมากขึ้น สร้างเน็ตเวิร์กให้เสถียรกว่าเดิม ให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา เพราะเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งสำคัญเทียบเท่ากับสาธารณูปโภคด้านอื่น ๆ เช่น น้ำและไฟฟ้า