หลายปีที่ผ่านมาสมาร์ทโฟนแบรนด์จีนต่างดาหน้าเข้ามาบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยต่อเนื่อง เริ่มจากการใช้กลยุทธ์ “ราคา” ควบคู่ไปกับสเป็กเครื่องที่โดดเด่นไม่แพ้แบรนด์ดังทำให้ผู้บริโภคกล้าทดลองใช้จนปัจจุบันหลายแบรนด์ติดตลาดและได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพสินค้า
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยไอดีซี (IDC) ระบุว่า ตลาดสมาร์ทโฟนในไทย ณ ไตรมาส 3/2563 มียอดขายรวม 4.3 ล้านเครื่อง เพิ่ม14% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 4 ใน 5 อันดับเป็นแบรนด์จีน ได้แก่ วีโว่ (Vivo), ซัมซุง (Samsung), ออปโป้(OPPO), เรียลมี (realme) และเสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ตามลำดับ
“เรียลมี” ลุยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
นายชัยรัตน์ เศารยะโศภิต รองประธานกรรมการฝ่ายธุรกิจลูกค้า เรียลมี ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีที่ผ่านมาโควิด-19 ระบาดอย่างหนักแต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
โดยยังขยายการทำตลาดไปใน 61 ประเทศทั่วโลก และ ณ ไตรมาส 3/2563 มียอดจัดส่ง 132% หรือกว่า 50 ล้านเครื่องทั่วโลก ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 5 ของตลาดสมาร์ทโฟนโลก และเป็นอันดับ 4 ในประเทศไทย
“เรียลมีเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ย้ายไปยังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เราก็เปิด realme Official Store บนลาซาด้า, ช้อปปี้ ดิสช็อป (Thisshop) และเจดี เซ็นทรัล รวมถึงเตรียมเปิด realme Brand Shop ให้ครบ 68 สาขา มีเซอร์วิสเซ็นเตอร์ให้บริการหลังการขาย 6 แห่งในกรุงเทพฯ”
สำหรับกลยุทธ์ปี 2564 จะยังให้ความสำคัญกับการเป็นผู้นำเทคโนโลยีเพื่อคนรุ่นใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “Dual Drive Strategy : Smartphone+AIOT” โดยนำเสนอสมาร์ทโฟน 5G ประสิทธิภาพสูง
ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์ AIOT (AI+IOT) ด้วยกลยุทธ์ “1+4+N” ใช้สมาร์ทโฟนเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อ 4 ผลิตภัณฑ์ คือ สมาร์ททีวี, หูฟังอัจฉริยะ, สมาร์ทวอตช์และลำโพงอัจฉริยะ เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างอีโคซิสเต็มให้ผลิตภัณฑ์ AIOT ด้วยการสร้างแพลตฟอร์ม “realme TechLife” ศูนย์รวมพันธมิตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากทั่วโลก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศด้วย
5G ดันตลาดสมาร์ทโฟนโต
ด้าน นางสาวปรีดาพร พรศุภโชคผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ วีโว่ ประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอการเติบโตและกระทบกำลังซื้อของผู้บริโภค
โดยตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตลดลงในไตรมาส 2/2563 อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทวิจัยไอดีซี (IDC) โตลดลง 9% เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่ผู้บริโภคยังมีความต้องการสินค้าทำให้หันมาซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จนวีโว่ (Vivo) มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 หรือ 19.5% ของตลาดรวม
สำหรับตลาดรวมสมาร์ทโฟนปี 2564 คาดว่าจะเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ และมีการเติบโตที่ดีจากการขยายตัวของเทคโนโลยี 5G คาดว่าสมาร์ทโฟนระดับกลางจะเป็นกลุ่มหลักที่เติบโตดี
เพราะฟังก์ชั่นครบตามที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น กล้องหน้าคมชัด แบตเตอรี่อึด เป็นต้น ขณะที่ราคาไม่สูงสอดคล้องกับผู้บริโภคในปัจจุบันที่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนทิศทางธุรกิจในปีนี้บริษัทจะเดินหน้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่รองรับเทคโนโลยี 5G ในทุกช่วงราคาทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคหลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงส่วนขยายช่องทางการจำหน่ายทั้งออฟไลน์ (หน้าร้าน)
และออนไลน์ต่อเนื่อง เช่น ขายผ่านออนไลน์ offcial store พาร์ตเนอร์ และตัวแทนจำหน่ายเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า พร้อมร่วมกับอีมาร์เก็ตเพลซเช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดี มากขึ้น
สมาร์ทโฟนระดับกลางบูม
นายเจอร์รี่ กง ผู้จัดการ อินฟินิกซ์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนปี 2564 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีแบรนด์ใหม่จากต่างประเทศเริ่มเข้ามาในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับกลาง
เพราะเทคโนโลยีและส่วนประกอบต่าง ๆ เริ่มมีต้นทุนถูกลง แต่ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสมาร์ทโฟนระดับบน ทำให้สมาร์ทโฟนระดับกลางและล่างได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจาก “ราคาดี สเป็กแรง” คุ้มค่าการใช้งาน
“ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนโดยพิจารณาจากงบฯที่มีก่อน จากนั้นจะเริ่มหาข้อมูลสมาร์ทโฟนที่อยู่ในเรตราคาเดียวกัน เพื่อเปรียบเทียบ หาข้อมูลจากนักรีวิว พบว่าลูกค้าหน้าร้านมักตัดสินใจซื้อจากโปรโมชั่น ส่วนลูกค้าออนไลน์เป็น Gen Y Gen Z มักตัดสินใจซื้อทันทีโดยไม่ต้องไปดูเครื่องจริงที่ร้าน”
ปีที่ผ่านมาโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสมาร์ทโฟนราคาถูกลง ส่งผลดีกับแบรนด์ “อินฟินิกซ์” เพราะราคาถูก มีตั้งแต่ 2,000-5,000 บาท ตอบโจทย์การใช้ตั้งแต่ใช้ติดต่อสื่อสารทั่วไปจนถึงรุ่นเรือธง
สำหรับกลยุทธ์ในปี 2564 จะเจาะไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยทำตลาดผ่าน KOLs และ influencers ทั้งสายเกม สายเทคโนโลยีไอที และไลฟ์สไตล์ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มักตัดสินใจซื้อจากการดูรีวิว ทั้งจะมุ่งทำตลาดผ่านมาร์เก็ตเพลซ มีเป้าหมาย ขึ้นเป็น “top 3 best seller smartphone”
“หัวเว่ย” ปูพรม 50 SKU
ก่อนหน้านี้ นายเกวิน เฉิง ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดสมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยมีโอกาสขยายตัวอีกมากโดยเฉพาะสมาร์ทโฟน และคาดด้วยว่ากลุ่มสินค้า IOT จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับทิศทางปี 2564 จะยังเดินหน้าขยายธุรกิจในประเทศไทยต่อไป โดยเปิดตัวสินค้า ทั้งกลุ่มสมาร์ทโฟนสมาร์ทดีไวซ์ เช่น แล็ปทอป แท็บเลต สมาร์ทวอตช์ สมาร์ทออดิโอ รวมไม่ต่ำกว่า 50 SKU จากปี 2563 มี 30-40 SKU
กลยุทธ์หลักของหัวเว่ยยังคงมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาอีโคซิสเต็มภายใต้กลยุทธ์ 1+8+n หรือการเชื่อมต่อสมาร์ทดีไวซ์ในอีโคซิสเต็ม (1=สมาร์ทโฟน) เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกัน ส่วน 8 คือ สมาร์ทดีไวซ์ เช่น แล็ปทอป, แท็บเลต, สมาร์ทวอตช์ เป็นต้น ส่วน n หมายถึง internet of things ที่เชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน