e-Commerce ไทย โตแค่ไหน (1)

คอลัมน์ Pawoot.com โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

 

ช่วงปีที่ผ่านมาการค้าขายบนโซเชียลมีเดียได้สร้างปรากฏการณ์สร้างพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่เข้าสู่วงการมากมาย จากสถิติของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) พบว่า การขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียในหมวดการค้าปลีกมีมูลค่าสูงสุด แซงช่องทางดั้งเดิมอย่างเว็บไซต์ขาดลอย

ในแง่ของการแข่งขันก็มีผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศ บุกเข้ามาโกยยอดขายคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่าง อาลีบาบา ที่ทุ่มทุนซื้อกิจการ Lazada ที่ขยายธุรกิจทั่วอาเซียน หรือ e-Commerce สัญชาติเกาหลี อย่าง 11Street ก็บุกเข้าไทยแล้ว และมีข่าวมาว่า JD.com จากจีนก็จะมาด้วย ยิ่งสร้างความคึกคักให้กับตลาด e-Commerce ไทย

เมื่อปลาย ก.ย.ที่ผ่านมา สพธอ.ได้เปิดเผยตัวเลขสำคัญที่สะท้อนสถานการณ์ค้าขายออนไลน์ได้เป็นอย่างดี มูลค่า e-Commerce ในไทยเมื่อปี 2559 มีมูลค่ากว่า 2,560,103.36 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแบบ B2B 1,542,167.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.24% ของมูลค่า e-Commerce ในปี 2559 รองลงมาคือ e-Commerce แบบ B2C 703,331.91 ล้านบาท หรือ 27.47% และแบบ B2G จำนวน 314,603.95 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.29%

สังเกตได้ว่าการเติบโต e-Commerce บ้านเรา โตในอัตราที่สูงขึ้น จาก 10.41% ในปี 2558 เป็น 14.03% ในปี 2559

ทางทีมวิจัยได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ตลาด e-Commerce บ้านเราเติบโตมาจากปัจจัย 3 ประการอันได้แก่

1.ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดมากขึ้นปี 2558 มีผู้ประกอบการ e-Commerce 527,324 ราย แต่ในปี 2559 มีถึง 592,996 ราย เพิ่มขึ้นถึง 65,672 ราย (หรือคิดเป็น 12.45%)

2.การปรับตัวของผู้ประกอบการเข้าสู่ออนไลน์มากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันผู้ประกอบการพยายามเรียนรู้และปรับตัวเพื่อเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น รวมถึงการสั่งซื้อสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อมีผู้ประกอบการเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ หรือ e-Commerce มากขึ้น ผู้ซื้อก็ยิ่งมีทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการที่หลากหลายในราคาที่คุ้มค่ามากที่สุด

3.ผู้ประกอบการสามารถขยายช่องทางการขายสินค้าและบริการออกสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยมีการค้าขายสินค้าและบริการไปยังภูมิภาคยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย ด้วยนโยบายจากแต่ละประเทศที่มีการลดข้อจำกัดและเงื่อนไขเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการค้าขายข้ามพรมแดน (cross-border) รูปแบบ e-Commerce อีกทั้งการเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการให้สามารถติดต่อสื่อสาร เจรจา และทำการค้าขายร่วมกันได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้การซื้อขายออนไลน์ระหว่างภูมิภาคไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

e-Commerce ประเทศไทยมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 1 (เฉพาะ B2C) เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ASEAN แต่ตัวเลขที่สวนทางคือ จำนวนยอดเงินที่ใช้จ่ายของไทยยังเป็นที่ 3 เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค ASEAN กล่าวคือ ประเทศไทยตลาดใหญ่ที่สุด แต่การซื้อสินค้าต่อหัวต่อคน ยังมีมูลค่าน้อยกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย

มูลค่า e-Commerce ของอุตสาหกรรมค้าปลีกมีมูลค่าสูงสุดด้วย รองลงมาคือการให้บริการที่พัก และภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า e-Commerce สูงที่สุด 3 อันดับแรก

อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมการค้าปลีก และการค้าส่ง มีมูลค่า e-Commerce ทั้งสิ้น 713,690.11 ล้านบาท ( 31.78%)

อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่า e-Commerce ทั้งสิ้น 607,904.89 ล้านบาท (27.07%)

อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า e-Commerce ทั้งสิ้น 428,084.73 ล้านบาท (19.06%) ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า e-Commerce น้อยที่สุด คือ อุตสาหกรรมการประกันภัยมีมูลค่า e-Commerce ทั้งสิ้น 2,396.69 ล้านบาท (0.106%)