อาชีพเสริมใหม่ ๆ ที่มีในแอปพลิเคชั่น

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

วันหนึ่งผมมีโอกาสได้เรียกใช้บริการรถจากแอปพลิเคชั่น Grab เพื่อกลับบ้าน และเปิดแอป Clubhouse หาห้องฟังแต่ไม่มีห้องไหนน่าสนใจ เลยนึกสนุกเปิดห้อง Clubhouse นั่งคุยกับคนขับแกร็บที่ผมนั่งมาได้เนื้อหาและไอเดียที่น่าสนใจมากครับ

พี่คนขับท่านนี้อดีตเคยทำงานบริษัทในตำแหน่งระดับบริหารมีเงินเดือน 6 หลัก ปัจจุบันออกจากงานประจำปีครึ่งแล้ว

ตอนนี้ขับแกร็บทุกวันตั้งแต่เที่ยงวันถึงเที่ยงคืน เพราะมีลูกน้องเก่าที่ขับเป็นรายได้เสริมอยู่ก่อนแนะนำให้ลองขับ สิ่งที่ต่างจากการที่เคยทำงานบริษัทมา 30 ปี

คือเป็นงานที่ขึ้นอยู่กับตัวเราและสมองเราจริง ๆ ภาวะความกดดันต่างกันทำให้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปด้วย มีการวางแผนการเงินดีขึ้น เก็บเงินเก่งขึ้น ประหยัดขึ้น

ผมถามไปว่าขับแล้วดีไหม เขาบอกว่าแบ่งได้เป็น 3 ช่วงคือ ก่อนโควิดรายได้ดีมากเพราะลูกค้าที่มาขึ้นส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติมีทั้งแบบที่เหมาเป็นวันไปเลยหรือให้ทิปต่าง ๆ

แต่พอช่วงโควิดหยุดเลยเพราะไม่อยากเสี่ยงก็ใช้เงินเก็บที่เก็บไว้ แต่พอช่วงหลังโควิดค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงแต่รายได้ไม่ค่อยดี เพราะต่างชาติไม่ค่อยขึ้นและมีคู่แข่งเป็นแอปจากต่างประเทศเริ่มเข้ามา

ผมเองเคยวิเคราะห์ว่าบริการของแกร็บในตัวเขามีหลายบริการ เริ่มจากแกร็บแท็กซี่ ช่วงนั้นมีอูเบอร์เมื่อก่อนยังมีบริการที่ชื่อว่า Easy Taxi เป็นบริการหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มของ Lazada

ตอนนั้นแกร็บเองเริ่มระดมเงินได้ เมื่ออีซี่แท็กซี่สู้ไม่ได้จึงปิดบริการทำให้เหลือแค่แกร็บกับอูเบอร์ ตอนนั้นทั้ง 2 เจ้าแข่งกันดุมาก มีคูปองลดราคาออกมาเต็มไปหมดเพราะต้องแย่งชิงลูกค้ากัน

ต่อมาเมื่อ “อูเบอร์” เปลี่ยนผู้บริหาร CEO ระดับโลก ผู้บริหารใหม่มีนโยบายไม่ต้องการแข่งในบางพื้นที่เพื่อลดการขาดทุน จึงใช้วิธี merge กัน“อูเบอร์” เข้าไปถือหุ้นในแกร็บ รวมบริการทั้งหมดของอูเบอร์เข้าไปในแกร็บ กลายมาเป็นคู่ค้าเป็นพาร์ตเนอร์กัน

ทำให้อูเบอร์มีบริการอยู่ทั่วโลก การคิดแบบนี้เป็นวิธีการที่น่าสนใจมาก คือไม่ต้องแข่งแต่เป็นพาร์ตเนอร์กัน ผมเข้าใจว่าหลังจากนั้นแกร็บที่เป็นบริการเรียกรถก็เริ่มทำกำไรแล้ว

พี่คนขับบอกว่า แกร็บกินส่วนแบ่ง 25% แกร็บได้เต็ม ๆ ไม่เหมือนแกร็บฟู้ดหรืออื่น ๆ ที่เมื่อเขาได้มาต้องไปแบ่งไดรเวอร์ แต่นี่ได้มา 100 บาท คนขับเอาไป 75 บาท แกร็บได้ 25 บาท

เดี๋ยวนี้ไม่มีคูปองแล้วเพราะเมื่อรวมกับอูเบอร์แล้วจึงไม่มีการแข่งขัน งบฯการตลาดก็ไม่ต้องใช้เยอะเหมือนสมัยก่อน เท่าที่รู้คือรายได้ของฝั่งแกร็บที่เป็นการเรียกรถทำกำไรแล้วเพราะไม่มีคู่แข่งแล้ว

กลายเป็นว่าสำหรับคนขับรถในช่วงก่อนโควิดกำไรดี รายได้ดี คนนั่งบางทีจะรู้สึกว่าทำไมแพงจังเลย จากที่เคยนั่้งปกติ 60 บาท พอขึ้นแกร็บราคาแพงขึ้นเกือบ 100% เลย

แต่ข้อดีคือ สะดวกกว่าไม่ต้องยืนรอแค่กดแอปเท่านั้น ผู้โดยสารก็ต้องทนใช้เพราะอยากได้ความสะดวกอยากจองล่วงหน้า อยากจ่ายผ่านบัตรเครดิต และไม่ต้องไปบอกทาง แต่อาจไม่รู้ก่อนว่าได้รถยี่ห้ออะไร แอบเจ็บช้ำน้ำใจเหมือนกันคืออยากได้นั่งสบาย ๆ แต่พอกดปุ๊บได้รถกระบะก็ไม่มีทางเลือก

แต่สัก 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมเห็นมีโฆษณาขึ้นมาในมือถือเป็นบริการเรียกรถแท็กซี่เหมือนกันชื่อ “Bolt” โฆษณาเป็นภาษาไทยผมจึงดาวน์โหลดแอปมาแล้วลองเรียกดู

ปรากฏว่ามีรถจริง ๆ Bolt เป็นบริการเรียกรถสัญชาติเอสโตเนีย เปิดให้บริการสักพักแล้ว ผมคุยกับคนขับก็บอกว่า Bolt เริ่มเข้ามาแข่งขันกับแกร็บ ตอนนี้แกร็บเริ่มรู้ว่ามีคู่แข่งจึงเริ่มลดราคาลงมา

จุดที่น่าสนใจคือ เริ่มมีการแข่งขันในธุรกิจการเรียกรถเกิดขึ้นแล้ว ผมเริ่มเห็นว่าน่าจะชวนคุณผู้อ่านที่ชอบนั่งแกร็บให้ลองไปใช้บริการอีกเจ้า แต่บอกไว้ก่อนว่าประสบการณ์อาจไม่ดีเท่าการใช้แกร็บ

เพราะ user interface หรือหน้าตาเขา ฟังก์ชั่นหรือความสามารถมันอาจไม่เทียบเท่า อาจไม่ได้ง่ายขนาดแกร็บ แต่ก็เป็นอีกทางเลือก เช่น บางจังหวะที่รถติดฝนตก คนเยอะเราอาจหารถเรียกแกร็บแล้วไม่มีใครกดรับเลย เป็นแอปทางเลือกอีกทางที่น่าสนใจ

ตอนนี้ทางเลือกมีเยอะนะครับ 1.มีแกร็บ มีโบลต์ และ “ไลน์แมนแท็กซี่” แต่ก็มีแต่แท็กซี่ เมื่อมีการแข่งขันเกิดขึ้น บางทีก็ทำให้ภาพรวมการทำธุรกิจเริ่มเปลี่ยนไป และโมเดลการทำธุรกิจก็น่าสนใจ

คือแกร็บเป็นแค่แพลตฟอร์ม แต่รับรายได้ 25% ทุก ๆ ออร์เดอร์ที่มีคนขึ้นรถ ยังอยากเชียร์เหมือนเดิม ใครที่ว่างแล้วไม่รู้จะทำอะไรหรือมีเวลาว่างหรือใครเป็นพนักงานเงินเดือนแล้วเงินเดือนไม่พอใช้ แนะนำให้ลองไปขับดูครับ