“QueQ-เพนกวิน” รักษาตัวรอดสไตล์สตาร์ตอัพ

queqเพนกวิน

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “Go Digital ไปต่ออย่างไร บนวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่ว่าอะไรก็ต้องดิจิทัล” เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ในโอกาสเปิดตัวสถาบันอบรมหลักสูตรความรู้เสริมทักษะคนดิจิทัล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการด้านกฎหมาย เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

QueQ ลุยจัดคิวจองฉีดวัคซีน

“รังสรรค์ พรมประสิทธิ์” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิวคิว(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นจองคิว “QueQ” กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ทำให้สตาร์ตอัพต้องปรับตัวต่อเนื่อง

โดย QueQ ในฐานะแพลตฟอร์มจองคิวร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะยอดการจองคิวของร้านอาหารหายไปกว่า 30% ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อสร้างทางรอด ด้วยการหันไปให้บริการกับกลุ่มธุรกิจอื่นมากขึ้น เช่น จองคิวหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน

ล่าสุดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเปิดทดสอบระบบจองคิวฉีดวัคซีนโควิด เริ่มไปแล้ว 2 แห่ง คือ ศูนย์บริการวัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารจามจุรีสแควร์ และอาคารจามจุรี 9

และกำลังจะร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดให้บริการจองคิวฉีดวัคซีนอีก 25 แห่ง รวมถึงศูนย์ฉีดวัคซีนพัทยา ชลบุรี เพื่อลดเวลารอคิว และความหนาแน่น

ในการทดสอบระบบพบว่า ขั้นตอนการฉีดวัคซีน และสังเกตอาการใช้เวลาประมาณ 45 นาที ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์พยายามปรับรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้บริการเร็วที่สุด แต่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการรอคิวก่อนฉีด ใช้เวลาเฉลี่ย2-3 ชั่วโมง

จึงต้องปรับระบบใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้ที่จะฉีดวัคซีนต้องมารอนาน ซึ่งแอป QueQ ตอบโจทย์ได้ เพราะผู้ฉีดสามารถเลือกสถานที่และจองเวลาการฉีดวัคซีนได้

“โควิดทำให้สตาร์ตอัพต้องปรับตัวอย่างหนัก ต้องใช้ทุกกระบวนท่าเข้ามาช่วย ช่วงนี้สตาร์ตอัพส่วนใหญ่จะไม่ได้มองเรื่องการเติบโต หรือเปิดระดมทุนเพราะนักลงทุนก็ชะลอเช่นกัน

แต่มีโจทย์คือทำอย่างไรให้รอด จึงต้องสวมหมวกเป็นเอสเอ็มอีด้วย คือ บริหารจัดการเงินเพิ่มสภาพคล่อง และสร้างรายได้ให้ธุรกิจ”

“เพนกวิน” วิกฤตมีโอกาสใหม่

ด้าน “ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี” ผู้ก่อตั้ง และเจ้าของร้านอาหาร “เพนกวิน อีส ชาบู”กล่าวว่า ทักษะสำคัญในการรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ คือ คิดแล้วต้องทำทันที

โดยผสมผสานระหว่างการเป็นเอสเอ็มอีที่ต้องสร้างการเติบโต หากระแสเงินสดให้ไวบวกเข้ากับการทำงานแบบสตาร์ตอัพที่ต้องเร็ว และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจ

พร้อมกับยกตัวอย่างว่า ช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 รอบแรก เพนกวินก็ทำทุกอย่าง เช่น ลองขายชาบูแถมหม้อ ควบคู่ไปกับให้ใช้แอปพลิเคชั่นหาคู่ “Tinder” ฟรี 1 เดือน หรือแม้แต่แถม “โบท็อกซ์” เรียกได้ว่า ทำมาหมดแล้ว

ผลจากการทำแคมเปญต่าง ๆ ทำให้ยอดขายค่อย ๆ ฟื้น แต่พอเจอระบาดรอบ 2 ก็สะดุดอีกก็ต้องปรับตัวใหม่ มาถึงการระบาดรอบล่าสุดขณะนี้ เมื่อรัฐห้ามนั่งทานในร้าน ยอดขายก็หายไป

สิ่งที่ “เพนกวิน” ทำ คือ ปรับมาขายทุเรียน เนื่องจากเป็นสินค้าที่กำลังนิยม โดยใช้เวลาเพียง 1 วัน หาสวนทุเรียนทำแพ็กเกจจิ้ง ระบบขนส่ง และระบบจ่ายเงินที่ทำขึ้นมาอย่างง่าย ๆ วันแรกมียอดขาย 60 กก. (เฉพาะเนื้อทุเรียน) เพิ่มเป็น 200 กก. ทำให้มีรายได้เข้ามา

สเต็ปต่อไป “เพนกวิน” มองไปถึงการต่อยอดธุรกิจจากโครงสร้างต่าง ๆ ที่วางไว้โดยเตรียมออกสินค้าใหม่ที่สามารถขายได้ในระยะยาว เช่น ไอศกรีมทุเรียน

“ภาพของเพนกวินในระยะยาว อาจเป็นล้งขายผลไม้หรือขายอะไรก็ได้ แค่เปลี่ยนโปรดักต์ให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคด้วยการใช้ฐานแฟนเพจ 5 แสนราย ที่มีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ เพื่อให้กลายเป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่จะขายอะไรก็ได้”

ทั้ง “QueQ และ “เพนกวิน” เป็นตัวอย่างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ไม่ลืมใช้จุดแข็งของการเป็น “สตาร์ตอัพ” ที่ปรับตัวได้เร็วและเข้าใจการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำพาองค์กรให้รอดท่ามกลางวิกฤตรอบแล้วรอบเล่า